การศึกษาประวัติศาตร์สมัย อยุธยา มักกล่าวกันว่าตลอดเวลา 417 กรุงศรีอยุธยามีพระมหากษัตริย์ปกครอง 33 พระองค์ (หากนับขุนวรวงศาธิราชด้วยจะเป็น 34 พระองค์ ) จากห้าราชวงศ์
แต่ความจริงการแบ่งราชวงศ์เป็นความคิดในสมัยรัตนโกสินทร์หลังจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ให้ความสำคัญกับราชวงศ์และอาจจะยังไม่มีความคิดเรื่องราชวงศ์แบบตะวันตก
ที่เน้นการสืบอำนาจภายในครอบครัวหรือเครือญาตเดียวกันมาเป็นสาย
ดังเห็นได้จากพระราชพงศาวดารที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาไม่มีฉบับใดที่กล่าวถึงราชวงศ์
หากพิจารณาตารางแสดงรายพระนามพระมหากษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา
จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงศ์การตั้งชื่อราชวงศ์มาจากชื่อเมืองที่พระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์นั้นๆ ปกครองอยู่เป็นหลัก จึงเห็นชื่อราชวงศ์อู่ทองและสุพรรณภูมิสลับกัน
ตามมาด้วยราชวงศ์สุโขทัย ต่อมาจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จัดให้เป็นราชวงศ์ปราสาททองแสดงถึงการให้ความสำคัญกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองผู้เป็นต้นราชวงศ์
ส่วนราชวงศ์สุดท้ายคือราชวงศ์บ้านพลูหลวง รายชื่อราชวงศ์มาจากสถานที่ประสูติหรือนิวาสสถานเดิม
ของสมเด็จพระเพทราชา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อราชวงศ์ ไม่ได้มาจากตัวบุคคลแต่มาจากชื่อเมือง
ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสืบเชื้อสายมากกว่า