เที่ยวอยุธยา ไหว้พระอยุธยา อัพเดทใหม่ปี 2023 ในวันนี้แอดพาไปหลายๆวัดเลยค่ะ มาค่ะสำหรับโพสต์นี้พี่ๆเพื่อนๆท่านใดที่ยังไม่รู้ว่าจะไปไหว้พระวัดไหนดี โพสต์นี้แอดรวบรวมไว้หมดแล้วค่ะ และถ้าจะเป็นการไปไหว้พระแบบแบ่งโซน ก็สามารถแบ่งได้ง่ายๆดังนี้นะคะ
- วัดพนัญเชิง /วัดใหญ่ชัยมงคล /วัดพระนอน 600 ปี
- วิหารพระมงคลบพิตร /วัดธรรมมิกราช /วัดหน้าพระเมรุ /วัดแม่นางปลื้ม
- วัดกษัตริย์ตราธิราช /วัดพุทไธศวรรย์
เริ่มกันที่โซนที่ 1 : วัดพนัญเชิง /วัดใหญ่ชัยมงคล /วัดพระนอน 600 ปี
วัดพนัญเชิง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย มีจุดเด่นสำคัญ คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา
วัดใหญ่ชัยมงคล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย
วัดพระนอน 600 ปี วัดร้างที่เหลือเพียงฐานรากของกำแพงวัด และเสาวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธศรีอยุธยาประชาพิทักษ์ พระนอนอายุ 600 ปีที่กรมศิลปากรร่วมแรงร่วมใจกับพระสงฆ์และประชาชนบูรณะองค์พระขึ้นมาใหม่ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบว่าวัดพระนอนแห่งนี้มีเนื้อที่ 2 ไร่ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ประมาณปี พ.ศ. 1900-2000 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเนรศวรมหาราชและรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ จากการขุดค้น พบวิหาร เจดีย์ราย กลุ่มอาคาร และกลุ่มหลุมฝังศพ ส่วนพระนอน มีหลักฐานว่าประดิษฐานอยู่ในวิหาร ทว่าวิหารเกิดหักพังลงไป องค์พระมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นพระปูนปั้น ศิลปะอู่ทองรุ่นที่ 3 อายุประมาณ 600 ปี พุทธลักษณะคล้ายพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทรประมูล จ. อ่างทอง
รายละเอียดเพิ่มเติม 👇👇👇
https://www.talontiew.com/600-year-old-reclining-buddha/
โซนที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตร /วัดธรรมมิกราช /วัดหน้าพระเมรุ /วัดแม่นางปลื้ม
วิหารมงคลบพิตร ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีจุดเด่นที่สำคัญคือ เป็นวิหารเก่าแก่ในเขตกำแพงเมือง ที่ได้รับการบูรณะอย่างดี ภายในวิหารมีพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ที่เสียหายตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง แต่ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด ด้วยทองสำริดหุ้มทองตามปัจจุบัน
วัดธรรมิกราช เดิมชื่อ วัดมุขราช เป็นอดีตพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดกับพระราชวังโบราณ และวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดธรรมิกราช สร้างขึ้นโดย พระยาธรรมิกราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งเดิมชื่อวัดมุขราช ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามผู้สร้างเป็นวัดธรรมิกราช
วัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชการาม” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งต้นสมัยอยุธยา มีแต่เพียงตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2046 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน
วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก บ้างสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้กับวัดหัสดาวาส (ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างและยังเหลือสิ่งก่อสร้างที่ไม่ถูกทำลายอยู่บ้าง) พระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา หรือได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงนั้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์
วัดแม่นางปลื้ม ตั้งอยู่บริเวณคลองเมือง ตรงข้ามหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
วัดแม่นางปลื้มเปี่ยมด้วยตำนาน และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังงดงามด้วยโบราณสถานที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
โซนที่ 3 วัดกษัตริย์ตราธิราช /วัดพุทไธศวรรย์
วัดกษัตริย์ตราธิราช เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวังหลังหรือวังสวนหลวง เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม”
วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในตำบลสำเภาล่ม| อำเภอพระนครศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ปรากฏตามตำนานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “ตำบลเวียงเล็ก หรือ เวียงเหล็ก” ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกข้าศึกทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชมอีกมากมาย
คร่าวๆเลยก็จะสามารถก็แบ่งโซนได้ประมาณนี้ค่ะ เน้นเอาวัดที่อยู่ใกล้ๆกันสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ก็จะทำให้การเดินทางสะดวก
และง่ายกว่าเก่าค่ะ