วัดแร้ง วัดร้างอยุธยาที่แค่ได้ยินชื่อก็ชวนขนหัวลุก


วัดแร้ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือนอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ฝั่งตะวันออกของคลองบางปลาหมอหรือคลองผ้าลาย​ ซึ่งเป็นลำคลองสายสั้นๆที่ไหลแยกจากคลองสระบัวทางตอนบนแล้ว ลงมาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีหรือคลองเมืองในปัจจุบันบริเวณฝั่งตรงข้ามพระราชวังหลวง

วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกันกับ วัดที่ขุนพิเรนทรเทพกับพวกนำศพของขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์มาเสียบประจานไว้ โดยในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้

สรุปว่าเมื่อครั้งขุนพิเรนทรเทพนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์  ได้อาศัยช่วงจังหวะในขณะที่ขุนวรวงศาธิราชเสด็จโดยเรือพระที่นั่ง ไปยังคลองช้างเถื่อนที่เพนียดวัดสอย่านหัวรอ ครั้นเมื่อขบวนเรือพระที่นั่งแล่นมาถึงบริเวณปากคลองสระบัว  กองกำลังของขุนพิเรนทรเทพ ที่ซุ่มอยู่บริเวณคลองบางปลาหมอ ก็พร้อมกันออกสกัดจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ และรอบปลงพระชนม์แล้วนำศพไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ โดยสันนิษฐานว่ากองกำลังของทั้งสองฝ่ายคงเปิดศึกน่านน้ำกันจนถึงขั้นตะลุมบอน แต่ขุนวรวงศาธิราชน่าจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะถูกซุ่มโจมตีและล่าถอยขึ้นไปทางคลองบางปลาหมอ จนสุดท้ายก็คงมาเสียท่าให้กับฝ่ายขุนพิเรนทรเทพที่บริเวณวัดแร้งแห่งนี้

แผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ พ. ศ. 2469 ระบุชื่อและตำแหน่งที่ตั้งของวัดแร้ง ไว้ชัดเจนว่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคลองบางปลาหมอเหนือวัดเจ้าย่าขึ้นไป ส่วนบันทึกการสำรวจของอาจารย์ ​น.ณ​ ปากน้ำ เมื่อปี 2509 ไม่ได้กล่าวถึงวัดแร้ง แต่ในแผนที่ประกอบซึ่งเชื่อว่าอ้างอิงจากฉบับของพระยาโบราณราชธานินทร์ มีตำแหน่งของวัดที่ตรงกับวัดแร้งแต่เขียนว่าวัดแจ้งซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าระยะเวลาของการสำรวจที่ห่างกันถึง 40 ปีคงทำให้ชื่อวัดเพี้ยนเปลี่ยนไปตามภาษาปากของชาวบ้านที่อยู่แถบนั้น

อย่างไรก็ตามมีแผนที่อีกฉบับหนึ่งที่แตกต่างจาก 2 ฉบับแรกคือ แผนที่โครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี พศ 2536 โดยกรมศิลปากรระบุตำแหน่งที่ตั้งของวัดแร้งว่า อยู่ทางทิศตะวันออกของคลองบางปลาหมอ ถัดวัดเจ้าย่าขึ้นไปทางทิศเหนือ​

เมื่อได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่แถวคลองสระบัวส่วนใหญ่ ก็ยังพอจำความได้ว่าเคยมีวัดแร้งอยู่แถวๆวัดเจ้าย่า ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้นสอดคล้องกับแผนที่กรมศิลปากร ส่วนซากวัดได้รับการยืนยันเป็นที่แน่นอนแล้วว่าได้ถูกไถกลบจนกลายสภาพเป็นโคกและป่าละเมาะไปนานแล้ว

จากการไปเดินสำรวจดูบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นวัดแร้ง ยังเห็นเศษอิฐวางซ้อนกันเป็นชั้นๆอยู่บนเนินโคก ซึ่งมีบ้านคนปลูกอยู่บนเนินนั้นแต่ได้ทิ้งร้างไปแล้ว สังเกตขนาดของอิฐดูเหมือนจะเล็กกว่าอิฐทั่วไปที่ใช้สร้างวัดสร้างเจดีย์ในสมัยอยุธยา จึงไม่แน่ใจว่าเป็นเศษอิฐของสิ่งก่อสร้างอะไรกันแน่ ลองเดินสำรวจดูรอบๆบริเวณจนทั่วแล้วก็ไม่พบหลักฐานอื่นใดที่จะแสดงให้เห็นว่าตรงนี้เคยเป็นวัดมาก่อน มีอยู่ทางเดียวก็คือต้องขุดค้นลงไปที่สุดแต่คงเหลือวิสัยและจนปัญญา​ที่จะทำอย่างนั้นได้

ถัดจากวัดแร้งลงไปทางทิศใต้นิดเดียว พบซากโบราณสถานของวัดที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดลายสอ ตั้งอยู่ในท่ามกลางป่าละเมาะ  วัดนี้ทำให้แผนที่ของกรมศิลปากรยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะระบุตำแหน่งที่ตั้งของวัดไว้สอดคล้องกัน ลองเดินสำรวจดูยังพอปรากฏให้เห็นส่วนของรากฐานและผนังด้านหลังของพระอุโบสถ ซึ่งถูกยึดไว้ด้วยรากของต้นไม้ใหญ่ โดยมีเจดีย์ประธานทรงกลมขนาดค่อนข้างใหญ่ถูกเจาะเป็นรูโพรงตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ รอบบริเวณวัดพบเศษพระพุทธรูปหินทรายที่ถูกตัดจนเหลือไว้แต่ส่วนหน้าวางเกลื่อนกลาดไม่ครบส่วนของเศียรพระพุทธรูปแม้แต่เศียรเดียว

วัดลายสอนี้นอกากจะปกคลุมด้วยป่าจนรกทึบแล้ว ยังถูกล้อมรอบด้วยบ้านเรือนผู้คน โดยมีลำกระโดงและหนองน้ำขนาดอยู่ทางด้านหน้าและด้านตะวันตก  สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นร่องรอยของแนวคลองบางปลาหมอหรือคลองผ้าลายในอดีต

แสดงความคิดเห็น