สมัยอยุธยารูปแบบของการตลาด
มีความหลากหลายร้านค้า
จะอยู่กันเป็นกันย่านเรียกว่า “ป่า”
คำว่า ป่า ในสมัยนั้นหมายถึง “ตลาด”
ย่านใดมีสินค้าอะไรเป็นหลัก
ก็จะเรียกว่าป่าของสิ่งนั้นๆ
เช่น ป่าถ่าน เป็นย่านขายถ่านขายฟืน
ป่ามะพร้าว เป็นย่านที่ขายมะพร้าวกันมาก
ป่าตอง เป็นย่านที่ขายใบตอง
ป่าโทน เป็นย่านขายโทนและเครื่องดนตรีไทย
ป่าขนม จะมีร้านขายขนมหวาน เป็นต้น
ดังนั้นถนนสายเดียวกันจึงอาจประกอบด้วยชื่อถนนหลายชื่อตามชื่อของย่านนั้นๆในส่วนร้านค้าเดียวที่ขายของสารพัดน่าจะเกิดภายหลังจากพ่อค้าอาหรับและพ่อค้าจีนเข้ามา
ย่านป่าต่างๆในเวลาต่อมาอาจจะไม่ได้ขายของนั้นๆเป็นหลัก เช่นย่านป่าถ่าน ภายหลังไม่มีถ่านเป็นสินค้าหลักแต่ยังเรียกติดปากเลยมาดังที่มีหลักฐานว่าย่านป่าถ่านมีร้านขายผลไม้และมีร้านขายของสดเช้าเย็นเป็นตลาดใหญ่ที่มีสินค้าสารพัด
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีคนจีนมาติดต่อค้าขาย
มากกว่าชาติอื่นๆ มีตลาดค้าขายทอง
จึงเรียกว่าย่านป่าทอง ซึ่งเป็นแหล่งขายทองคำเปลว
และเครื่องทองรูปพรรณ ตลอดจนเครื่องเงินแล้วนาก
ในบันทึกของราชทูตลังกาที่เข้ามา
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ได้พรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยา โดยระบุว่า
“ตามถนนหลวงจนถึงประตูพระราชวัง
อันมีชื่อว่าพรหมสุคต ตลอดสองข้างทาง
มีร้านขายเครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องทองเหลือง
ทองแดง ทองสัมฤทธิ์ และสังกะสี
ขายไม้จันทร์แดง จันทร์ขาว ขายฟูกเบาะและม่านปัก ขายเครื่องยาต่างๆ มีขายทั้งข้าวสาร กล้วย มะพร้าว ส้ม ขนมหวาน ดอกไม้ และเครื่องกิน
ร้านเหล่านี้ตกแต่งประดับประดาไปด้วยลายทอง
ถนนงามอรามตาตลอดทาง
ส่วนนอกเกาะเมืองมีย่าน ที่สำคัญอาทิ
ย่านทุ่งแก้ว- ทุ่งขวัญ นอกจากจะเป็น
ด้านการตลาดการค้าแล้วยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าอีกด้วย
สำหรับตลาดน้ำในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ที่ปรากฏในพงศาวดาร มีอยู่หลายอย่าง
ได้แก่ ตลาดคูไม้ร้อง (ริมคลองเมืองฝั่งเหนือ)
ตลาดบางกะจะ หน้าป้อมเพชร
ตลาดปากคลองคูจาม (ใกล้วัดพุทไธศวรรย์)
และตลาดคลองวังเดิม
ที่มา : หนังสือเกร็ดกรุงศรีอยุธยา
นักเขียน : คุณกิตติ โล่ห์เพชรัตน์