กรุทองคำวัดมหาธาตุ  “กรุมหาสมบัติ แห่ง กรุงศรีอยุธยา”


กรุวัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา

กรมศิลปากรรับผิดชอบการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานโดยเริ่มที่วัดมหาธาตุอันเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมือง กรุงศรีอยุธยา ที่สร้างในสมัยขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.1917 ก่อนในต้นเดือน สิงหาคม 2499 และในวันที่ 25 สิงหาคม ก็ได้พบเครื่องทองที่ใต้ฐานเจดีย์ชั้นบนของซากพระปรางค์องค์ใหญ่จำนวน 20 รายการ ดังนี้

1. ปลาหินเขียนลายทอง 1 ตัว ( 2 ชิ้น )
2. ตลับสิงโตทองคำฝังทับทิมตัวใหญ่ 1 ตัว
3. ทองคำเป็นรูปโคมประดับทับทิม 4 ตัว
4. ผอบหินฝาทองคำ 1 ผอบ
5. ตลับสิงโตทองคำขนาดเล็ก 1 ตัว
6. ลูกคั่นทองคำ 10 ลูก
7. กาน้ำลายครามเล็กรูปเต่า 1 กา
8. โถปริลายคราม 1 โถ
9. ลูกประหล่ำทองคำ 12 ลูก
10. จุกฝาโถทองคำ 22 อัน
11. โถกระเบื้องเล็ก 1 โถ
12. ลูกพิกุลทองคำ 1 ลูก ( 2 ชิ้น )
13. ด้ามไม้ควักปูนแก้วผลึก 1 อัน
14. โถแก้ว 1 โถ
15. ตลับทองคำมีสายสร้อยร้อย 1 ตลับ
16. เสือแก้วผลึก 1 ตัว
17. กระปุกหินฝาประดับทอง 1 อัน
18. กาน้ำลายครามรูปปักเป้า 1 กา
19. หางปลาเป็นรูปทองคำ 1 หาง
20. ทองคำทำเป็นรูปสิ่งของ 1 ชิ้นเล็ก

ต่อมาได้ขุดพบผอบศิลาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดสูงรวมตัวและฝาผอบ 1.05 เมตร กว้าง 0.32 เมตรสี่เหลี่ยม และได้นำขึ้นมาเปิดดู เมื่อ 30 กันยายน 2499 ปรากฏว่าภายในผอบศิลานั้นบรรจุเครื่องทองคำเต็มล้นพูนปากผอบ จำนวน 22 รายการ รวมเป็นทองคำหนัก 62 บาทเศษ ผนังข้างในผอบบุด้วยแผ่นทองคำโดยรอบ กลางผอบมีสถูปเจดีย์สวมครอบพระบรมสารีริกธาตุไว้รวบ 7 ชั้น

ชั้นที่ 1 เป็นพระสถูปทำด้วยชิน
ชั้นที่ 2 เป็นพระสถูปเงินมียอดนพศูล
ชั้นที่ 3 เป็นพระสถูปนากมียอดนราศูลฝังพลอย
ชั้นที่ 4 เป็นพระสถูปไม้สีดำยอดทองคำ
ชั้นที่ 5 เป็นพระสถูปไม้สีแดงยอดทองคำ มีทองคำเป็นปลอกรัด พระสถูปและฐานบุแผ่นทองคำ
ชั้นที่ 6 เป็นพระสถูปแก้ววางซ้อนกันเป็น 3 ชั้น คือชั้นล่างโตหน่อยเป็นแก้วโกเมน ชั้นกลางย่อมลงเป็นแก้วมรกต ชั้นยอดเล็กกว่าชั้นกลางเป็นทับทิม แล้วใช้ทองคำทำเป็นสาแหรกรัด ที่สายสาแหรกประดับมรกตเม็ดเล็ก ๆ ยอดสาแหรกติดมรกตทำเป็นลายแหลมอย่างยอดเจดีย์ ฐานรองพระสถูปแก้วเป็นทองคำมีพลอยสีต่าง ๆ วางเรียงรายไว้ 6 เม็ด
ชั้นที่ 7 เป็นตลับทองคำเล็ก ๆ เมื่อเปิดฝาออกก็มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในน้ำมันจันทน์ สัณฐานเป็นลักษณะคล้ายเกล็ดพิมเสนสีขาวเป็นรุ้งพราว ขนาดเท่า 1 ใน 3 ของเมล็ดข้าวสาร

อนึ่งโดยรอบผอบศิลาที่อยู่ในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุนั้น ก็บรรจุพระพุทธรูปสำริดบ้าง พระพิมพ์เนื้อชินบ้าง พระทองคำแผ่นบ้าง กระจายอยู่ทั่วไป แต่พระพิมพ์ชินผุเปื่อยเสีย 50% ด้วยเหตุที่แช่อยู่ในน้ำนานปี ที่สำคัญคือได้พระทองคำปั๊มนูนฝีมือช่างสมัยอู่ทองเป็นแผ่นหนาสูง 48 ซ.ม. องค์หนึ่งซึ่งถือเป็นศิลปวัตถุชิ้นเอก

นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์ทิศอยู่ที่มุมกำแพงแก้วของพระปรางค์องค์ใหญ่ (ปรางค์ประธาน) อีก 4 องค์ กรมศิลปากรได้ขุดตามที่คนร้ายขุดได้พบผอบศิลาบรรจุพระธาตุของพระสาวกและภายในผอบมีพระพุทธรูปทองคำ พระพิมพ์แผ่นทองคำ แหวนพระพุทธรูปสำริด สถูปซ้อนกัน 3 ชั้น บรรจุตลับทองคำรักษาพระธาตุองค์หนึ่งขนาดเท่าครึ่งเมล็ดข้าวสาร สีดอกพิกุลแห้ง สัณฐานคล้ายผลยอ มีปุ่มขาวงอกอยู่ 2 – 3 ปุ่มด้วย

จากสาเหตุข่าวการขุดกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ หรือ กรุหลวงพะงั่ว ได้พบสมบัติมีค่าเป็นอันมาก หนังสือพิมพ์ลงข่าวทุกวันแรมเดือน และประชาชนก็สนใจติดตามข่าวอยู่เสมอ จึงเป็นมูลเหตุเร่งเร้าให้คนร้ายคิดเห็นเป็นตัวอย่าง และเชื่อมั่นว่าตามประปรางค์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญกษัตริย์สร้างทั้งสิ้นนั้นคงจะมีสิ่งของมีค่าอีกเป็นจำนวนมากแน่นอน จึงชิงขุดกรุพระปรางค์ทุกองค์และเจดีย์ใหญ่สำคัญทั่วไปหมดโดยที่ทางราชการไม่สามารถจะไปเฝ้าดูแลรักษาได้ อันทำให้กรมศิลปากรมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบาย กล่าวคือนอกจากทำหน้าที่ขุดแต่งบูรณะโบราณสถานตามหลักวิชาการแล้ว จะต้องรีบขุดค้นหาวัตถุโบราณตามรอยซากเจดีย์ที่คนร้ายเคยลักขุดไว้ ตลอดจนที่คนร้ายยังไม่ได้ขุดด้วย เพราะเหตุว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2500 ได้เกิดมีคนร้ายลักขุดกระพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ จึงเกรงว่าทางราชการจะถูกตำหนิปล่อยให้เหตุการณ์เกิดซ้ำอย่างวัดราชบูรณะอีก ซึ่งทรัพย์สมบัติของชาติถูกทำลายสูญหายยับเยินจึงได้ขออนุมัติขุดกรุ 5 แห่ง คือ วัดไชยวัฒนาราม วัดพระราม วัดพุทธไธศวรรย์ วัดใหญ่ชัยมงคล และวัดสามวิหาร เพราะตระหนักว่าถ้าขืนหล่อยทิ้งไว้คนร้ายก็จะลักขุดเสียก่อนทุกแห่งไป หลักฐานข้อมูลทางโบราณคดีประวัติศาสตร์และสมบัติมีค่านานาชนิดก็จะพลอยสูญสลายถูกทำลายหมดด้วยอย่างแน่นอน

ที่มา : เครื่องทองสมัยอยุธยา กรมศิลปากร 2548

เฟซบุ๊ก : คุณธีรรัฐ เชี่ยวสกุล

แสดงความคิดเห็น