ไหว้พระ 9 วัด ที่อยุธยา


กิจกรรมยอดฮิต เป้าหมายของนักเดินทางที่จะมาอยุธยา ก็คงจะหนีไม่พ้นการมา ไหว้พระ 9 วัด ที่อยุธยา แต่ก็ยังมีอีกหลายๆท่านที่ยังไม่ทราบว่าหากจะมา ไหว้พระ 9 วัด ที่อยุธยา จะต้องเริ่มต้นอย่างไร เริ่มจากวัดไหนก่อน วางแผนอย่างไรดี 

มาค่ะในโพสต์นี้แอดมินคัดสรรและเรียบเรียงมาให้เรียบร้อยแล้วจัดแบ่งโซนให้สำหรับการเดินทางที่ง่ายขึ้นด้วยค่ะ 

โซนที่ 1 :  วิหารมงคลบพิตร / วัดธรรมิกราช /วัดหน้าพระเมรุ /วัดแม่นางปลื้ม 

โซนที่ 2 : วัดพระนอนโลกยสุธา /วัดกษัตราธิราชวรวิหาร /วัดพุทไธศวรรย์ 

โซนที่ 3 :  วัดใหญ่ชัยมงคล /วัดพนัญเชิง / 

โดยการเดินทางในครั้งนี้เราจะเริ่มจากโซนที่ 1 เป็นต้นไปเลยค่ะ เมื่อมาถึงอยุธยาแล้วแอดมินแนะนำว่าแวะไหว้ศาลหลักเมืองบริเวณใกล้ๆกันกับวิหารมงคลบพิตรก่อนก็จะดีนะคะ หลังจากไหว้ศาลหลักเมืองแล้ว เลยมาอีกนิดนึงก็จะเจอกับวิหารหลวงพ่อมงคลบพิตร 

โซนที่ 1 :  วิหารมงคลบพิตร / วัดธรรมิกราช /วัดหน้าพระเมรุ /วัดแม่นางปลื้ม 

วิหารมงคลบพิตร

วิหารมงคลบพิตรตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์มีจุดเด่นสำคัญคือเป็นวิหารเก่าแก่ในเขตกำแพงเมืองที่ได้รับการบูรณะอย่างดีภายในวิหารมีพระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55  เมตร  และสูง 12.45 เมตร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145 

วัดธรรมิกราช

วัดธรรมิกราช เดิมชื่อ วัดมุขราช เป็นอดีตพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดกับพระราชวังโบราณ และวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดธรรมิกราช สร้างขึ้นโดย พระยาธรรมิกราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งเดิมชื่อวัดมุขราช ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามผู้สร้างเป็นวัดธรรมิกราช

วัดธรรมมิกราช มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นวัดที่มีการพบเศียรพระธรรมิกราชซึ่งนับเป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และเจดีย์ทรงกลมที่มีปูนปั้นรูปสิงห์ล้อมที่หาชมได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ที่พบคือวัดที่มีรูปปูนปั้นเป็นช้าง ในสมัยสุโขทัย เรียกว่า วัดช้างล้อม ซึ่งในวัดแห่งนี้เดิมมีสิงห์ล้อมถึง 52 ตัว แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20 ตัว

https://goo.gl/maps/ZyYoDoA7feAzvn76A

วัดหน้าพระเมรุ

วัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชการาม” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งต้นสมัยอยุธยา

มีแต่เพียงตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2046 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน วัดหน้าพระเมรุเป็นอีกหนึ่งในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก บ้างสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้กับวัดหัสดาวาส (ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างและยังเหลือสิ่งก่อสร้างที่ไม่ถูกทำลายอยู่บ้าง) พระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา หรือได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงนั้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์

https://goo.gl/maps/ZJTG8HcqkCyx7eQV9

วัดแม่นางปลื้ม

ประวัติของทางวัดแม่นางปลื้มกล่าวว่าวัดสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 1920 สมัยขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

วัดมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งทางวัดเขียนว่า แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านอยู่ริมน้ำชานพระนครคนเดียว ไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงพายเรือมาแต่พระองค์เดียว ท่ามกลางสายฝน เมื่อเสด็จมาถึงเห็นกระท่อมยังมีแสงตะเกียงจึงทรงแวะขึ้นมาในกระท่อม แม่นางปลื้มเห็นว่าเสื้อผ้าพระองค์เปียกจึงได้กล่าวเชื้อเชิญด้วยความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านทรงตรัสเสียงดัง แม่ปลื้มจึงกล่าวเตือนว่าอย่าเสียงดังนัก

กล่าวว่าเวลาค่ำ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินได้ยินจะทรงโกรธ พระองค์กลับตรัสด้วยเสียงอันดังว่าอยากดื่มน้ำจันทน์เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แต่แม่ปลื้มบอกว่าเป็นวันพระ หากจะดื่มได้ต้องไม่ให้เรื่องถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงรับปาก และได้ประทับค้างคืนที่บ้านของแม่ปลื้ม เช้าจึงเสด็จกลับวัง ต่อมาทรงให้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ครั้งแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรจึงจัดงานศพให้สมเกียรติ และสร้างวัดแห่งนี้ไว้ที่เป็นระลึก

https://goo.gl/maps/Xome8AWYCLS34thB7

โซนที่ 2 : วัดพระนอนโลกยสุธา /วัดกษัตราธิราชวรวิหาร /วัดพุทไธศวรรย์ 

วัดพระนอนโลกยสุธา

ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์ อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยา

จึงอาจกล่าวได้ว่าที่นี่เป็นหนึ่งในวัดสำคัญภายในเกาะเมืองอยุธยา วัดโลกยสุธาราม มีอีกชื่อหนึ่งคือ วัดพระนอน ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา มีประวัติเก่าแก่ และถูกกล่าวถึงในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นเส้นทางนมัสการพระนอนของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนอนกลางแจ้งสีขาว ก่ออิฐถือปูน องค์พระมีความยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร แม้จะมีอายุเก่าแก่แล้ว แต่ยังคงรายละเอียดค่อนข้างสมบูรณ์ สีพระพักตร์อิ่มเอิบ ปิติ เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี พระเศียรมีฐานบัวรองรับอย่างสวยงาม พระพุทธไสยาสน์องค์นี้นับเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของอยุธยาที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ วัดพระนอนยังมีร่องรอยของอาคารขนาดใหญ่ และระเบียงคดหลงเหลืออยู่ให้เห็น มีพระปรางค์สูงราว 30 เมตรโดดเด่นเป็นสง่าเป็นองค์ประธานของวัด ด้วยเหตุนี้วัดพระนอน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีไม่แพ้วัดอื่น ๆ ในเกาะเมืองอยุธยา พระนอนเป็นหนึ่งในมรดกแห่งอยุธยาที่ไม่มอดไหม้ไปพร้อมไฟสงคราม และเป็นความภูมิใจของอยุธยาในฐานะเมืองมรดกโลก ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชม

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร 

เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวังหลังหรือวังสวนหลวง เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม”

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระปรางค์เป็นประธานของวัด ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวัง และกรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม

วัดกษัตราเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดกษัตราธิราช” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถานที่สำคัญภายในวัด คือ พระประธานในพระอุโบสถที่มีแท่นฐานผ้าทิพย์ปูนปั้น ฝีมือประณีตงดงาม ใบเสมาของพระอุโบสถเป็นใบเสมาคู่แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง

ปัจจุบันเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา พระสงฆ์ที่เป็นที่นับถือ คือพระเกจิอาจารย์หลวงปู่เทียม

https://goo.gl/maps/1W1ULP1xBfGcJHvZ9

วัดพุทไธศวรรย์ 

เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง

ปรากฏตามตำนานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “ตำบลเวียงเล็ก หรือ เวียงเหล็ก” ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง

เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกข้าศึกทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชมอีกมากมาย

https://goo.gl/maps/m9GhKb5kMzXw2psd9

โซนที่ 3 :  วัดใหญ่ชัยมงคล /วัดพนัญเชิง 

วัดใหญ่ชัยมงคล 

เดิมชื่อ “วัดป่าแก้ว” หรือ “วัดเจ้าไท” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย

https://goo.gl/maps/9QbmvJUFp78LxRT58

วัดพนัญเชิง 

เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2394 ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนว่า หลวงพ่อซำปอกง[ต้องการอ้างอิง] คำว่า พแนงเชิง มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ ฉะนั้น คำว่า วัดพนัญเชิง (วัดพระแนงเชิง หรือ วัดพระเจ้าพแนงเชิง) จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยคือ หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก นั้นเอง

หรืออาจสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิง ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต (อ้างอิงจากประวัติวัดพนัญเชิงข้อมูลของทางวัดในปัจจุบัน)

และแล้วแอดมินก็พาเที่ยว ไหว้พระ 9 วัด ที่อยุธยา ครบแล้วนะคะ หากมีโอกาสเชิญเพื่อนๆมาเที่ยว ไหว้พระที่อยุธยากันนะคะ

เกี่ยวกับไหว้พระ 9 วัด ที่อยุธยา

ยังไม่มีข้อมูล


ข้อมูลทั่วไป


ที่ตั้ง : เลขที่ - หมู่ - ถ. - ต. - อ. - จ.พระนครศรีอยุธยา 13000 / แผนที่ GPS
เวลาเปิด - ปิด : -   วันหยุด :

ช่องทางติดต่อ : โทร -

แสดงความคิดเห็น