ตามความเชื่อในสมัยก่อนนิยมสร้างศาลหลักเมืองขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ
เพื่อเป็นมิ่งขวัญเป็นนิมิตมงคลแก่บ้านเมืองและเป็นสัญลักษณ์เป็นจุดหลักของบ้านเมืองบ้านเมืองนั้นจะร่มเย็นเป็นสุข ถ้าหลักเมืองฝังไว้ในย่านกลางเมืองหรือในทำเลที่เป็นชัยภูมิที่ดีของเมือง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ กล่าวตรงกันว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อวันศุกร์ขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 พุทธศักราช 1893 ซึ่งพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งวิธีกลบบัตร ได้สังข์ทักษิณาวัฎใต้ต้นหมันใบหนึ่ง สันนิษฐานว่าได้มีการสถาปนาหลักเมืองขึ้นในคราวเดียวกันแต่ได้ปลักหักพังสูญไปในคราวปีพศ. 2310
จากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์และหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี บ่งบอกว่าที่ตั้งของหลักเมืองเดิมตั้งอยู่ใกล้กับศาลพระกาฬและที่แยกตะแลงแกง
เนื่องในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปีพ.ศ 2525 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำริให้สร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ กรมศิลปากรเป็นผู้กำหนดภูมิสถานออกแบบและก่อสร้าง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์และฯพณฯพลเอก สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 23 กันยายนพ.ศ 2525
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมองค์หลักเมืองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2527 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เครดิตภาพสวยๆ : จากเฟสบุ๊ค คุณ Sittichok Chanisa
เครดิตข้อมูล : จากหนังสือมรดกอยุธยา