ในใจผมก็หวนนึกถึงเรื่องราว
“ศรีสุดาจันทร์” ไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นตำแหน่งหนึ่งในสี่ของพระสนมเอก
ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (รัชกาลที่ 13) ในหน้าประวัติศาสตร์
พระนางศรีสุดาจันทร์ถูกตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์ไว้หลายข้อหา
ทั้งคบชู้กับ “ขุนวรวงศาธิราช” (พันบุตรศรีเทพ) พราหมณ์เฝ้าหอพระ จนทรงพระครรภ์,
ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์สมเด็จพระไชยราชาธิราช
พระสวามี, มีส่วนรู้เห็นในการสำเร็จโทษพระยอดฟ้า (รัชกาลที่ 14) พระราชโอรสของตนเอง
ที่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระราชบิดา
และสุดท้าย ยกราชบัลลังก์ให้ขุนวรวงศาธิราช ชายชู้ ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
เรื่อง “ไม่ดีไม่งาม” ดังกล่าว หนักหนาจนยากจะยอมรับ ทำให้แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย
ที่เราท่องจำกันนั้น มีกษัตริย์ปกครองอยุธยาเพียง 33 พระองค์ แทนที่จะเป็น 34 พระองค์
ทั้งๆ ที่ขุนวรวงศาธิราชได้ผ่านพิธีบรมราชาภิเษกถูกต้อง นับเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งโดยสมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังครองราชย์ได้ไม่กี่วัน ขุนวรวงศาธิราชก็ถูกหลอกให้
ไปคล้องช้างเผือกที่นอกเมือง (ช้างเผือกเป็นเครื่องแสดงบุญญาธิการของกษัตริย์)
เมื่อเรือพระที่นั่งเคลื่อนเข้าคลองสระบัว จนถึงบริเวณวัดเจ้าย่าแห่งนี้ “ขุนพิเรนทรเทพ”
(ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช รัชกาลที่ 17) กับพวก ได้จู่โจมเข้าจับกุมขุนวรวงศาธิราช
และพระนางศรีสุดาจันทร์ไว้ได้ แล้วประหารชีวิต เสียบศีรษะประจานไว้ที่วัดแร้ง
จากนั้นอัญเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (รัชกาลที่ 15) ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่
นี่ผมยังไม่ได้เล่าเรื่องอาคารหน้าตาพิลึกกึกกือหน้าวัดเจ้าย่าในรูปเลยใช่ไหม………
อ่านบทความของคุณแพนแล้วต้องบอกว่าได้ความรู้มากทีเดียวค่ะ
มาค่ะต่อจากบทความนั้นเดี๋ยวแอดมินจะขออาสาพาทุกท่านเข้าสู่เรื่องราวของ “วัดเจ้าย่า”
ต่อจากบทความของคุณ Pane Somnuek Jirasakanon นะคะ
วัดเจ้าย่า เป็นวัดร้างตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของคลองสระบัว ซึ่งอยู่นอกเกาะเมือง ห่างจากหน้าวัดพระเมรุไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑ กิโลเมตรเศษ ตามเส้นทางที่จะไปเพนียดคล้องช้าง
คลองสระบัวเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในสมัยโบราณมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเส้นทางลัดระหว่างคลองคูเมืองกับคลองบางขวด ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์มักจะเสด็จไปเพนียดคล้องช้างโดยออกจากพระราชวังตรงคลองท่อ แล้วเลี้ยวเข้าคลองสระบัว ตัดตรงไปออกคลองบางขวดสู่เพนียดคล้องช้าง คลองสระบัวนี้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๒ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชเสด็จไปคล้องช้างที่เพนียด ผ่านมาทางคลองสระบัว ขุนพิเรนทรเทพกับพวกได้เข้าสกัดกระบวนเรือพระที่นั่งจับเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ขุนวรวงศาธิราช และราชบุตรที่เกิดด้วยกันฆ่าเสีย
ถนนที่ตัดผ่าน “วัดเจ้าย่า” นี้ได้ตัดผ่านกลางวัดทำให้วัดในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ ฝั่ง ฝั่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเป็นเขตพุทธาวาส และฝั่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งติดกับคลองสระบัว เป็นเขตสังฆาวาส ก่อนการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ บริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนราษฎรและเป็นพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรทั้ง ๒ ฝั่ง จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว บ้านเรือนราษฎรจึงได้ย้ายออกไป
สภาพวัดเจ้าย่าก่อนการขุดแต่งนั้นอยู่ในสภาพหักพังมาก ทั้งนี้เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัตถุและการลักลอบขุดรื้อทำลาย บริเวณฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยซากโบราณสถาน ได้แก่ วิหาร เจดีย์ อาคารขนาดเล็ก เจดีย์ราย และศาลาราย บริเวณดังกล่าวล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นเขตพุทธาวาส และมีคูน้ำล้อมรอบ ส่วนฝั่งตะวันตก มีซากโบราณสถานเป็นอาคาร ๒ ชั้น ก่ออิฐสอปูน หอระฆัง อาคารขนาดเล็ก ขอบทางเดินและแนวกำแพงวัด
ประวัติการสร้างวัดเจ้าย่ามีความเป็นมาอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานเนื่องด้วยไม่มีเอกสารฉบับใดกล่าวถึง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะทางศิลปกรรมของซากโบราณสถานที่เหลืออยู่และจากการขุดแต่งออกแบบเพื่อการบูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ พอจะสันนิษฐานได้ว่า วัดนี้น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และคงจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายแล้วถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จนมีการเข้ามาใช้พื้นที่โบราณสถานอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและถูกทิ้งร้างไปอีกครั้งหนึ่ง จะร้างด้วยเหตุผลใด ก็ไม่อาจทราบได้
นายเทพ สุขรัตนี นักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้เรียบเรียงบทความเรื่อง “วัดเจ้าย่า” และวัดแร้ง” พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕ เล่มที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๕ อธิบายว่า
“ได้ทราบจากผู้ใหญ่เล่าว่า วัดนี้เพิ่งตกเป็นวัดร้างมาเมื่อราว ๖๐ ปี สมภารองค์สุดท้าย ชื่อ พระภิกษุสุด หลักฐานต่างๆ ทางเอกสารแสดงถึงความเป็นมาของวัดนี้ยังค้นไม่พบ แม้ชื่อวัดซึ่งเรียกกันว่า “วัดเจ้าย่า” ก็ยากที่จะสันนิษฐานได้ว่าเหตุผลใดจึงมีชื่อเช่นนั้น”
จากบทความดังกล่าวถ้าจะนับวันเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๗) วัดเจ้าย่าก็คงถูกทิ้งร้างมาประมาณกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
ราษฎรในบริเวณนั้นเล่าว่า แต่เดิมบริเวณนี้มีสภาพเป็นป่ารกรุงรังด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยและวัชพืชนานาชนิด เมื่อทำการถากถาง เพื่อจะปลูกสร้างบ้านและทำที่เพาะปลูกจึงพบซากโบราณสถานต่างๆ และในที่สุดกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๘๖ แต่ยังไม่ได้ทำการบูรณะขุดแต่ง เพียงทำความสะอาดและถากถางบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น จากซากโบราณสถานดังกล่าวพบว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี เนื่องจากพบอาคารซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่สำหรับวิปัสสนา ประกอบกับวัดบริเวณนอกเกาะเมืองแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีทั้งสิ้น
ในปี ๒๕๔๒ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่ง ขุดค้นและออกแบบเพื่อการบูรณะโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว ซึ่งมีวัดเจ้าย่ารวมอยู่ด้วย จึงพบว่าวัดเจ้าย่านี้มีการก่อสร้างและบูรณะเพิ่มเติมถึง ๕ สมัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งพบว่ามีการสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นเจดีย์ประธานของวัด ต่อมามีการสร้างและบูรณะเพิ่มเติมอีกหลายครั้งและมีการสร้างทับซ้อนกันอีกด้วย ดังปรากฏรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณสถาน เช่น เจดีย์ทรงต่างๆ วิหารที่มีระเบียงโปร่ง เตี้ยขยายออกมา และหอระฆัง เป็นต้น
โบราณสถานที่สำคัญ
กรมศิลปากรได้สำรวจและจัดทำแผนผังวัดเจ้าย่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ พบว่า โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนนในปัจจุบันนั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๘๓.๑๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๘ เมตร มีทางเข้าสู่ด้านตะวันออก ๑ ช่อง ด้านตะวันตก ๒ ช่อง ชานด้านตะวันออกย่อมุมตามแผนผัง (ดูแผนผัง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐) ต่อมากำแพงดังกล่าวได้ทลายลงเหลือแต่แนวอิฐเป็นร่องรอยของแนวกำแพงเดิมโดยรอบเท่านั้น เมื่อกรมศิลปากรได้ขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ในปี ๒๕๔๒ ปรากฏว่าพบแนวกำแพงทั้งหมด ๔ ด้าน เป็นกำแพงก่ออิฐสอดิน มุมกำแพงประกอบด้วยเสาหัวเม็ดมุมกำแพง ฐานหน้ากระดานชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ลักษณะแนวกำแพงแต่ละด้าน มีดังนี้
- ด้านทิศตะวันออกยาว ๓๓ เมตร ขนานกับกลุ่มเจดีย์ราย ๓ องค์ ทางทิศตะวันออก
แนวกำแพงประกอบด้วยเสาหัวเม็ดที่ปลายแนวกำแพงทั้ง ๒ มุม ที่มุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้พบขอบอิฐลักษณะคล้ายศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนหรือสำหรับบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายใน มีช่องประตูทางเข้า ๑ ช่อง
- ด้านทิศเหนือ ยาว ๘๓ เมตร กำแพงด้านนี้มีสภาพสมบูรณ์เหลือแนวกำแพงตลอดทั้ง
แนวในสภาพคดไปมาและเลื่อนลงไปในคูน้ำ ความสูงวัดได้จากส่วนที่เหลือสภาพสูงสุดวัดได้ ๑.๒๔ เมตร พบเสาหัวเม็ด ๒ ต้น เว้นระยะกันประมาณ ๖๕ เซนติเมตร เป็นช่องประตูทางเข้า มีขั้นบันได สันนิษฐานว่าอาจเป็นช่องทางเข้าออกของพระสงฆ์จากเขตสังฆาวาสสู่เขตพุทธาวาส ซึ่งคูน้ำบริเวณใกล้กับช่องประตูเล็กนี้อาจมีสะพานไม้ข้ามไปยังกุฎิวิปัสสนา ๒ หลัง ทางทิศเหนือของวัด
– ด้านทิศใต้ ยาว ๘๓ เมตร สภาพกำแพงคดไปมา ด้านนี้ไม่พบช่องประตู
– ด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๘ เมตร สภาพชำรุดมาก เนื่องจากถูกถนนตัดผ่าน
แนวกำแพงในฝั่งตะวันออก สันนิษฐานว่าคงสร้างราวสมัยอยุธยาตอนกลางค่อนมาทางตอนปลาย เนื่องจากมีการสร้างโบราณสถานเพิ่มมากขึ้นและเพื่อกำหนดขอบเขตของวัดให้ชัดเจน ส่วนแนวกำแพงฝั่งตะวันตก จะเหลือเพียงฐาน และบางส่วนถูกรื้อทำลายเนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎร
ภายในกำแพงวัดฝั่งตะวันออกประกอบด้วยโบราณสถานดังต่อไปนี้
๑. วิหาร นายเทพ สุขรัตนี นักโบราณคดี กรมศิลปากรได้กล่าวถึงวิหารของวัดนี้ไว้ในบทความเรื่อง “วัดเจ้าย่าและวัดแร้ง” ว่า
“พระวิหารตั้งอยู่บนฐานล้อมด้วยกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๒๓.๔๐ เมตร กว้าง ๑๓.๕๐ เมตร ตัวพระวิหารยาว ๑๘.๓๐ เมตร กว้าง ๙.๙๐ เมตร ภายในวิหารมีแท่นชุกชี ไม่พบส่วนของพระพุทธรูป มีทางขึ้นทางทิศตะวันออกและตะวันตกด้านละ ๒ ช่อง” (ดูแผนผังปี พ.ศ. ๒๕๐๐)
จากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานวัดเจ้าย่าในพุทธศักราช ๒๕๔๒ นั้นพบว่า วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานวิหารสูงจากพื้นประมาณ ๔๐ – ๕๐ เซนติเมตร มีเสาระเบียงด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๙ ต้น ลักษณะเป็นระเบียงโปร่งใช้อิฐก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีบันไดขึ้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ภายในมีระเบียงเดินได้รอบ พื้นภายในวิหารปูด้วยอิฐกลมผ่ากากบาท มีฐานชุกชี ฐานพระอันดับ พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย ปูนปั้น และสำริด และชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผา เศษกระเบื้องดินขอ กระเบื้องเกล็ดปลา และกระเบื้องกาบกล้วย แสดงถึงอายุสมัยของโบราณสถานแห่งนี้ว่ามีการขยายและเปลี่ยนแปลงรูปทรงของอาคารหลายครั้ง
๒. เจดีย์ประธาน อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐสอดินและฉาบปูนด้านนอกทั้งองค์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม สูงจากระดับพื้นประมาณ ๖๐ – ๗๐ เซนติเมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงกลมลด ๒ ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวที่พังทลายเกือบหมด ถัดไปเป็นมาลัยลูกแก้ว จากนั้นเป็นองค์ระฆังที่เหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันตกเล็กน้อย บริเวณองค์ระฆังกรุด้วยศิลาแลง จากการขุดแต่งบูรณะพบว่าเจดีย์แห่งนี้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถึง ๓ ครั้ง และเมื่อมีการสร้างเจดีย์ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานทำให้ฐานของเจดีย์ชิดกับฐานหน้ากระดานของเจดีย์ประธาน จึงทำให้เจดีย์ทั้ง ๔ องค์อยู่บนฐานเดียวกัน
๓. เจดีย์ทางทิศเหนือของเจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยม คาดลูกแก้วอกไก่รองรับฐานเขียงกลม ฐานบัวกลมและองค์ระฆังทรงกลม สภาพชำรุดมากเหลือบางส่วนของมาลัยลูกแก้ว องค์ระฆัง ส่วนปล้องไฉนได้หักตกลงมาอยู่ข้างล่าง จากการขุดแต่งพบว่าเจดีย์องค์นี้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถึง ๓ ครั้ง ซึ่งแผนผังในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ระบุไว้ด้วยว่ามีเจดีย์ ๒ องค์ ขนาบข้างเจดีย์ประธาน ได้แก่องค์ทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งองค์ทางทิศใต้นี้มาปรากฏสภาพเมื่อขุดแต่งแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๔๒
๔. เจดีย์ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ที่ไม่ปรากฏสภาพก่อนขุดแต่ง เนื่องจากเศษอิฐปูนหักพังจากเจดีย์ประธานมาทับถมอยู่ เมื่อขุดแต่งแล้วมีเพียงฐานเขียงกลม ส่วนที่เหลือไม่ปรากฏลักษณะทางสถาปัตยกรรม
๕. เจดีย์ทางทิศใต้เยื้องกับเจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศเหนือ บริเวณพื้นล่างของบันไดมีอิฐปูพื้นอยู่เป็นลานถึงฐานไพทีของเจดีย์ประธาน ถัดขึ้นมาเป็นราวระเบียงทึบมีเสาหัวเม็ดประดับที่มุมเสา องค์เจดีย์ตั้งอยู่ตรงกลาง ประกอบด้วยฐานเขียง ถัดไปเป็นชุดฐานสิงห์ เหนือขึ้นไปหักพังทั้งหมด พบชิ้นส่วนบัวกลุ่มหลายชิ้น จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ทรงเครื่อง ปัจจุบันมีสภาพชำรุดมาก
๖. เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ อยู่ทางด้านตะวันตกของเจดีย์ประธาน เจดีย์นี้ตั้งอยู่บนฐานเหลี่ยมเป็นชั้น ลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานรับองค์ระฆังทำเป็นฐานสิงห์ มีลายปูนปั้นรูปเท้าสิงห์และลายบัว แท่นฐานยาวด้านละ ๓ เมตร สภาพปัจจุบันชำรุดมาก ลวดลายปูนปั้นหลุดล่วงเกือบหมด ยอดเจดีย์หักหายไป
๗. เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ถัดลงมาทางใต้ของเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร มีฐานประทักษิณโดยรอบ ฐานรองรับองค์ระฆังทำเป็นฐานสิงห์ องค์ระฆังเรียวชะลูดมาก ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดมาก องค์ระฆังถูกเจาะเว้า ส่วนยอดเจดีย์หักหายไป
๘. อาคารขนาดเล็ก หรือวิหารน้อย อยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๓.๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๓ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมแอ่นท้องสำเภา มีช่องหน้าต่างด้านทิศเหนือและทิศใต้ตรงกันด้านละ ๑ ช่อง ประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่สำหรับภาวนา – วิปัสสนา กำหนดอายุสมัยราวอยุธยาตอนปลายลงมา ประมาณหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างวิหารน้อยกับเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ จะมีพระปรางค์น้อยตั้งชิดแนวกำแพงแก้วของวิหารน้อย ลักษณะเป็นปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร ฐานกว้าง ๑.๕ เมตร มีช่องบรรจุสิ่งของเล็กๆ ทางด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าอาจสร้างเพื่อบรรจุกระดูกหรือสิ่งของมีค่า
๙. กลุ่มเจดีย์ ๓ องค์ เป็นเจดีย์รายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหาร องค์ทางทิศเหนือเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ซึ่งชำรุดมากเหลือเพียงฐานและบางส่วนขององค์เจดีย์ ยอดหักพังทลายลงมาหมด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยหลัง และมีการก่อเพิ่มเติมอีกด้วย
องค์ทางทิศใต้จะคงสภาพให้เห็นส่วนฐาน องค์ระฆัง บัลลังก์ และยอดเจดีย์บ้างเล็กน้อยได้ทำไม้ค้ำยันไว้ ส่วนองค์กลางชำรุดมาก ซึ่งภายหลังการขุดแต่งพบว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เนื่องจากถูกขุดรื้อทำลายมาก และยังพบว่าองค์เจดีย์ก่อทับซากโบราณสถานขนาดเล็ก ลักษณะเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมฉาบปูน ถัดขึ้นมาเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่าเป็นแท่นกราบพระหรือเป็นที่ประดิษฐานพระ
๑๐. เจดีย์ราย ๔ องค์ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ระหว่างด้านหน้าเจดีย์ประธานและด้านหลังของวิหาร ปัจจุบันเหลือเพียงฐานราก
– องค์ทางทิศเหนือ เป็นฐานสี่เหลี่ยมฉาบปูนภายในเป็นโครงสร้างอิฐก่อเป็นรูปกากบาท ขนาดกว้าง ๓ x ๓ เมตร
– องค์ถัดมา เป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ประธานของวัดสมัยแรกสร้าง ต่อมามีการสร้างเจดีย์ทรงระฆังเป็นเจดีย์ประธาน จึงลดฐานะเป็นเจดีย์รายเช่นเดียวกับเจดีย์รายองค์อื่นที่สร้างเรียงกัน
– องค์ต่อมา เหลือเพียงฐานเขียงสี่เหลี่ยมฉาบปูน ภายในเป็นโครงสร้างอิฐก่อเป็นรูปกากบาท ขนาดกว้าง ๓ x ๓ เมตร
– องค์ทางทิศใต้ เหลือเพียงฐานสี่เหลี่ยมฉาบปูน ภายในเป็นโครงสร้างอิฐก่อเป็นรูปกากบาท ฐานกว้างประมาณ ๓.๕ x ๓.๕ เมตร และถูกฐานเจดีย์ทรงเครื่อง (เจดีย์ทางทิศใต้เยื้องกับเจดีย์ประธาน) ซึ่งอยู่ใกล้กันก่อทับอยู่ครึ่งหนึ่ง และส่วนบนถูกรื้อออกเพื่อสร้างฐานเจดีย์ทรงเครื่อง และอาจนำอิฐของเจดีย์องค์นี้ไปก่ออาคารอื่นแทน
นอกจากนี้ยังมีศาลาราย ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดแนวกำแพงอีก ๓ หลัง เหลือเพียงฐานอาคารสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศาลาเพื่อประกอบกิจกรรมหรือนั่งพักผ่อนภายในวัด
ส่วนบริเวณฝั่งตะวันตกของถนน มีซากโบราณสถาน ได้แก่
๑. อาคารหรือตำหนัก เป็นอาคาร ๒ ชั้น ก่ออิฐสอปูน ชั้นล่างเป็นส่วนใต้ถุนยกพื้นสูงมีทางเข้าสู่อาคารภายใน ๒ ทางคือตรงกลางของด้านข้างตัวตำหนักทั้ง ๒ ข้างๆ ละ ๑ ช่อง ซึ่งช่องประตูอยู่ตรงกัน ลักษณะก่อเป็นช่องโค้งรูปกลีบบัว มีเสารองรับพื้น ทางขึ้นบนตำหนักมี ๒ ทาง คือทางด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ส่วนประตูทางเข้าในอาคารชั้นบนมี ๓ ทางทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หน้าต่างด้านละ ๖ ช่อง ช่องที่ ๔ นับจากทิศตะวันออกจะเป็นรูปโค้งแบบช่องกุด นอกนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเดินสู่ตำหนักเป็นทางเดินอิฐเชื่อมมาจากด้านริมคลอง และหอระฆังโดยขึ้นทางชานด้านหลัง
อาคารดังกล่าวมีลักษณะฐานแอ่นท้องสำเภาตามแบบที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมา สันนิษฐานว่าน่าจะมีการบูรณะเพิ่มเติมต่อมาด้วย
๒. หอระฆัง ตั้งอยู่ริมคลองสระบัว (หลังตำหนัก) เป็นหอระฆังยอดปรางค์ โดยทำเป็นปรางค์ ๕ ยอด ยอดปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นกลีบขนุนและประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเขียนสี มีฐานประทักษิณโดยรอบ และมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากลักษณะของปรางค์เล็กเรียว และลักษณะของหอระฆังยังมีรูปทรงเหมือนกับหอระฆังที่วัดใหม่ ตรงบริเวณปากคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา และวัดใหม่นี้ยังมีบานประตูไม้ศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่าในสมัยรัตนโกสินทร์วัดเจ้าย่ายังเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อาศัยและจำพรรษาอยู่
๓. อาคารจำนวน ๕ แห่ง อยู่ในสภาพชำรุดมาก เหลือเพียงฐานกระจายอยู่ในบริเวณเขตสังฆาวาส ตั้งอยู่บริเวณระหว่างตำหนักกับหอระฆัง ๑ แห่งมีขนาด ๘ x ๖ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นศาลาโถง ตั้งชิดแนวกำแพงวัดด้านทิศตะวันตก ๑ แห่งมีขนาด ๒ x ๔ เมตร และทางทิศเหนือของตำหนักอีก ๓ แห่ง มีขนาด ๑ x๑.๕ เมตร ๔ x ๒ เมตร และ ๓ x ๒ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นศาลานั่งพักผ่อน
นอกจากนี้ภายในวัดฝั่งนี้ยังมีทางเดินเชื่อมถึงกัน เพราะพบแนวอิฐก่อเป็นแนวยาวเชื่อมระหว่างตำหนักกับกำแพงวัดด้านทิศตะวันตก (ริมคลองสระบัว) และด้านทิศเหนือ
นอกจากโบราณสถานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีซากโบราณสถานอีก ๑ แห่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของถนนห่างจากบริเวณเขตพุทธาวาสขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๐ เมตร เป็นอาคารก่ออิฐสอปูนทรงกลม ๒ หลัง ยกพื้น มีช่องระบายอากาศด้านล่าง อาคารแต่ละหลังมีประตูทางเข้า ๑ ทาง หันหน้าเข้าหากัน สันนิษฐานว่าคงจะมีทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารทำด้วยไม้ เนื่องจากพบช่องสำหรับวางตัวไม้ที่ประตูของอาคารทั้งสอง หน้าต่างมีลักษณะเป็นช่องโค้งปลายแหลม อายุสมัยที่สร้างน่าจะไม่เก่าไปกว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานว่าอาคาร ๒ หลังดังกล่าวน่าจะเป็นอาคารสำหรับนั่งวิปัสสนา เนื่องจากพื้นที่ภายในค่อนข้างคับแคบไม่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์อื่น
หลักฐานเกี่ยวกับอาคารขนาดเล็กสำหรับวิปัสสนานี้มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นในประเทศลังกา ได้แก่ ที่วัดเมืองอนุราธปุระ เช่น กลุ่มวัดทางทิศตะวันตก (Western Monasteries) ของเมืองที่นักวิชาการเชื่อว่าคือกลุ่มวัดตะโปวน (Tapovana) ในพงศาวดารมหาวงศ์ ซึ่งหมายถึงป่าที่เป็นที่บำเพ็ญตบะ และวัดบนภูเขามหินตะเล ที่รัฐติลละและมาเนกัณฑะ นอกเมืองอนุราชปุระ เป็นต้น ในวัดดังกล่าวมีอาคารสี่เหลี่ยมตั้งอยู่คู่กัน และมีสะพานทอดเชื่อมถึงกัน วัดเหล่านี้เป็นวัดที่เชื่อกันว่าเป็นฝ่ายอรัญวาสีสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนาเป็นกิจกรรมสำคัญ อาคารคู่ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือกษิณ เช่น กณิณไฟ เป็นต้นนี้ พงศาวดารมหาวงศ์เรียกว่า “ปธานฆร” (Padhnaghara) แปลว่า “สถานที่ที่ทำความเพียรทางจิต” จากข้อมูลดังกล่าวมาแล้วอาจช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าโบราณสถานของวัดเจ้าย่า ๒ หลังน่าจะสร้างโดยวัตถุประสงค์เดียวกัน
จะเห็นได้ว่าวัดเจ้าย่าในปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามสภาพกาลเวลา และดินฟ้าอากาศ ทำให้สภาพของวัดในปัจจุบันมีความแตกต่างจากครั้งที่กรมศิลปากรได้สำรวจ และจัดทำผังในปี ๒๕๐๐ และมีผู้เขียนบทความไว้ในปี ๒๕๐๕ สิ่งก่อสร้างบางอย่างจึงไม่ปรากฏในผัง และเมื่อมีการขุดแต่งและบูรณะแล้ว จึงพบซากโบราณสถานเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง
ในครั้งที่ วัดเจ้าย่า ยังไม่ได้รับการบูรณะและขุดแต่งและตั้งอยู่ในพื้นที่ทำกินของราษฎรนั้น การดูแลรักษาโบราณสถานเป็นหน้าที่ของราษฎร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าว ช่วยทำความสะอาดในฐานะที่อยู่อาศัย และมีส่วนช่วยดูแลเรื่องการลักลอบขุดทำลายโบราณสถานเพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติ นอกเหนือไปจากกรมศิลปากรซึ่งดูแลรักษาโบราณสถานด้วยการทำความสะอาด ถากถางและกำจัดวัชพืชปีละครั้งเป็นการชลอการทำลายจากสภาพธรรมชาติได้ทางหนึ่ง แต่เมื่อราษฎรได้ย้ายบ้านเรือนออกไปแล้ว จึงเป็นภารกิจโดยตรงของกรมศิลปากรในการดูแลรักษาโบราณสถานของชาติแห่งนี้ต่อไป
เครดิต : ภาพและบทความด้านบนจากเฟซบุ๊กคุณ Pane Somnuek Jirasakanon
เครดิตประวัติวัดเจ้าย่า : http://www.qrcode.finearts.go.th