วัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นหลักใจกลางพระนครแห่งกรุงศรีอยุธยา


พระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ที่ใต้ฐาน
ปัจจุบันพระปรางค์องค์นี้ได้พังทลายลง เหลือแต่ฐานเมื่อปี พ.ศ.2499 กรมศิลปากร ได้ทำการขุดค้น
พบพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุภายในตลับทองคำ ซึ่งได้บรรจุไว้ภายใน สถูปเจดีย์ซ้อนกัน7ชั้น
ซึ่งก็ได้ถูกบรรจุไว้ในผอบหินไว้อีกทีหนึ่ง พร้อมกับได้พบเครื่องทอง และ ของมีค่าจำนวนมาก
ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่ชั้น2ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา

 

สมเด็จพระราเมศวร แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 1927 ซึ่งเป็นจุดที่พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็น พระบรมสารีริกธาตุเปล่งแสงสว่างและลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

ความสำคัญของวัดมหาธาตุนั้น นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของพระนครและ เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย โดยพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัดส่วนพระสังฆราช ฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว

หลังจาก เสียกรุงศรีอยุธยา ปี2310 วัดมหาธาตุ ก็ได้ถูกทิ้งร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด

พระปรางค์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว แต่ราชทูตลังกาที่ได้เคยมาเยี่ยมชมวัดมหาธาตุ
ในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เล่าไว้ว่า ที่ฐานของพระปรางค์
มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ
รูปเหล่านี้อาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล

เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ลดหลั่นกัน 4 ชั้น 8 เหลี่ยม ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก
ซึ่งเจดีย์องค์นี้จัดว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตา พบเพียงองค์เดียวในอยุธยา

วิหารที่ฐานชุกชี ของพระประธานในวิหาร กรมศิลปากรพบว่ามีผู้ลักลอบขุดลงไปลึกถึง 2 เมตร
จึงดำเนินการขุดต่อไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ บรรจุแผ่นทองเบารูปต่างๆ

วิหารเล็ก วิหารเล็กแห่งนี้ มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้
พระปรางค์ขนาดกลางภายในพระปรางค์ มีภาพจิตรกรรม เรือนแก้วซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ

ตำหนักพระสังฆราช บริเวณพื้นที่ว่างทางด้านทิศตะวันตก เคยเป็นที่ตั้งพระตำหนักพระสังฆราช
ฝ่ายคามวาสี ราชทูตลังกาได้เล่าไว้ว่า เป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรม
มีขวดปักดอกไม้เรียงรายเป็นแถวเพดานแขวนอัจกลับ (โคม) มีบังลังก์ 2 แห่ง

แสดงความคิดเห็น