ประตูมหาโภคราช อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย


ประตูมหาโภคราช

เป็นประตูวังด้านตะวันตก ใช้เป็นทางเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นในบริเวณท้ายพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์
ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับคลองฉะไกรใหญ่หรือคลองท่อ คำอธิบายว่าด้วยแผนที่พระนครศรีอยุธยา
ของพระยาโบราณราชธานินทร์กล่าวว่า ประตูนี้ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ
ให้ขุนนางใช้สำหรับเวลาจะเข้าเฝ้า ฯ ที่พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์และพระที่นั่งทรงปืน

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า
เมื่อครั้งสมเด็จพระเพทราชา (พ. ศ. 2231 – 2246)
เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ บรรดาพยาธิและข้าหลวงเดิมจากบ้านพลูหลวงเมืองสุพรรณบุรี
ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ทราบว่าพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์
ก็มีความชื่นชมยินดีชวนกันมาเข้าเฝ้า โดยได้โปรดให้เหล่าญาติและข้าหลวงเดิม
เข้ามาในพระราชวังทางประตูมหาโภคราช

พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์เป็นพระที่นั่งกลางสระน้ำ หลักฐานของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนั้น
กล่าวว่าพระที่นั่งองค์นี้เป็นพระราชอุทยานที่น่ารื่นรมย์ที่สุด ในบรรดาบริเวณจุดอื่นๆ
ของพระราชวังหลวง ปัจจุบันพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ก็เช่นเดียวกับพระที่นั่งองค์อื่นๆ
ที่เหลืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเหลือแต่เฉพาะส่วนฐานก่อด้วยอิฐสลับกับศิลาแลง

จากพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์เดินออกไปทางทิศตะวันตก ของพระที่นั่งฯ ด้านคลองท่อ
ประตูที่อยู่ตรงข้ามกับสะพานข้ามสระน้ำเข้าสู่พระที่นั่ง ฯ
คือประตูมหาโภคาราชซึ่งเหลือแต่ฐานเสา

อ้างอิงข้อมูล เครดิตจากหนังสือ : อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย

ผู้แต่ง : คุณปวัตร์ นวะมะรัตน

 

แสดงความคิดเห็น