อย่าปล่อยให้ “กรุงเก่า” ต้องลบเลือนไปตามกาลเวลา


สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินมีความภูมิใจมากในการนำเสนอบทความที่เกี่ยวกับ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในหัวข้อ
อย่าปล่อยให้ “กรุงเก่า” ต้องลบเลือนไปตามกาลเวลา
และบทความที่แอดมินจะนำเสนอในวันนี้นั้น แอดคัดสรรมานำเสนอเฉพาะวัด / สถานที่
ที่ผู้คน นักท่องเที่ยวต่างๆเข้าไปไม่ค่อยถึงจริงๆค่ะ

แอดอยากนำเสนอบทความนี้ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการมาเที่ยวอยุธยาที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แอดมั่นใจนะคะว่าถ้าคนอยุธยาเราช่วยกันเผยแพร่ นำเสนอเรื่องราวที่ลงลึดมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรานั้นมีที่ท่องเที่ยว มีเรื่องราวน่าค้นหามากยิ่งขึ้นค่ะ ซึ่งบางโพสต์ที่แอดนำไปลงที่เพจอยุธยาสเตชั่นนั้น บางท่านที่เป็นคนอยุธยาแท้ๆยังไม่รู้เลยก็มี แอดจึงตั้งใจมากๆค่ะที่จะนำเสนอบทความนี้ มาค่ะตามมาดูกันว่ามีที่ไหนอย่างไรกันบ้าง

วัดพระยาแมน แนะนำที่เที่ยวอยุธยา วัดพระยาแมน

วัดพระยาแมน เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวัดพระยาแมนได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานของชาติ แต่ไม่ได้กำหนดขอบเขต เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 หลังจากนั้น จึงได้รับการขึ้นทะเบียนแบบกำหนดขอบเขตอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2523

วัดพระยาแมนเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยไม่ปรากฏนามผู้สร้าง
และไม่ทราบว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยใด แต่ชื่อวัดพระยาแมนปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา กล่าวคือ ก่อนที่สมเด็จพระเพทราชาจะได้ครองราชสมบัตินั้น ผนวชอยู่ที่วัดพระยาแมน
โดยพระอาจารย์อธิการได้ทำนายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชสมบัติ รวมทั้งยังได้ให้โอวาทานุสาสน์ในสมณะกิจทั้งปวง

ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระเพทราชาได้เสวยราชสมบัติแล้วจึงทรงพระราชดำริถึงคุณพระอาจารย์อธิการวัดพระยาแมน
จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระยาแมนเพื่อถวายนมัสการพระอาจารย์ แล้วมีพระราชดำรัสให้ให้สร้างพระอารามให้ถาวรขึ้นกว่าเก่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จทรงพระกรุณาให้มีการสมโภช 3 วัน และทรงตั้งพระอาจารย์อธิการวัดพระยาแมนชื่อ พระยาศรีสัจจญาณมุนี ราชาคณะ ฝ่ายคามวาสี พร้อมถวายเครื่องสมณบริขารพร้อมตามศักดิ์พระราชาคณะทุกประการจากพงศาวดารแสดงให้เห็นว่าสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ล้วนเป็นฝีมือช่างคราวปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นทั้งสิ้น

 

วัดจงกลม 

วัดจงกลม เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว
อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ห่างจากฝั่งตะวันตก ของคลองสระบัวประมาณ ๒๐๐ เมตร
เยื้องจากวัดพระรามหรือวัดพระงาม หรือวัดชะรามขึ้นไปทางเหนือ
วัดจงกลมมีขอบเขตพื้นที่โบราณสถาน โดยประมาณ ๔ ไร่ ๒ งาน ๔๗ ตารางวา
รอบวัดติดกับที่ดินของชาวบ้าน ที่เช่าจากกรมศาสนา
ด้านทิศเหนือใกล้วัดพระยาแม
ด้านทิศใต้ใกล้วัดพระรามหรือวัดพระงาม หรือวัดชะราม
ด้านทิศตะวันตกเป็นบริเวณทุ่งขวัญ
ด้านตะวันออกเป็นถนนทางเข้าวัด
ซึ่งสร้างทับลงบนถนนอิฐสมัยโบราณที่ตัดตรงมาจากคลองสระบัว

ไม่ปรากฏหลักฐานประวัติความเป็นมาของวัดจงกลม แต่พบเรื่องราวเกี่ยวกับวัดจงกรม
ในเอกสารประวัติศาสตร์เรื่อง “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยสมเด็จพระเพทราชา” 
ว่า พระธรรมสารเถร อธิการวัดจงกรม ได้เข้าร่วมถวายพระพรสมเด็จพระเพทราชา
ณ พระที่นั่งบรรยงต์รัตนาสน์ ในพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. ๒๒๔๒

ซึ่งนับเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า วัดจงกลม เป็นวัดเดียวกับวัดจงกรม
ในเอกสารประวัติศาสตร์ดังกล่าว แต่ต่อมาภายหลังการสะกดคลาดเคลื่อนไป
เพราะคำว่าจงกลมนั้นไม่มีความหมาย แต่คำว่า จงกรม หมายถึง อาการที่เดินไปมา
ในที่กำหนดอย่างพระเจริญกรรมฐานเดิน เรียกว่า เดินจงกรม 

ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับภาพการเดินวนทักษิณาวัตรของพระพุทธรูปปางลีลา
ในซุ้มจระนำรอบเจดีย์ประธานวัดจงกลม ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ จิตรกรผู้สนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวไว้ในหนังสือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” หนังสือที่รวมเรื่องราวการสำรวจ
โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใน พ.ศ. ๒๕๑๐

 

วัดตะไกร

วัดตะไกรถือเป็นวัดร้างที่มีประวัติและน่าสนใจอีกวัดหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเอกสารอ้างอิงว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยไหนอย่างไรแต่เนื่องจากวัดนี้มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน และมีการอ้างอิงว่าเป็นสถานที่ปลงศพนางวันทองจึงทำให้วัดนี้มีความน่าสนใจพอมากๆเลยค่ะ

จากหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 ตอนที่ว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา
ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณราชธานินทร์
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์พ.ศ 2479 หน้า 166 ถึง 167 ได้กล่าวถึงตลาดบก
รอบกรุง 4 ว่าที่หน้าวัดตะไกรเป็นตลาดท่าน้ำที่หน้าวัดพระเมรุแห่งหนึ่ง
ในจำนวนตลาดนอกกรุงซึ่งมีอยู่ถึง 23 แห่ง ประกอบกับหลักฐานทางด้านวรรณคดี
เรื่องเสภาขุนช้างขุนแผน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
ได้ทรงสันนิษฐานโดยอาศัยพงศาวดาร และคำให้การชาวกรุงเก่าไว้ว่า มีข่าวมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
ในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือระหว่างพ.ศ 2034 ถึงพ.ศ 2072
ได้กล่าวถึงความสำคัญถึงวัดตะไกรว่าเป็นที่ฝังและทำฌาปนกิจศพของนางวันทองผู้ต้องคำพิพากษาถึงประหารชีวิตแล้วนำศพไปฝังอย่างวัดตะไกร ตามหลักฐานทางโบราณคดีได้สันนิษฐานว่าวัดตะไกร
น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพ. ศ. 2006 ถึง 2170 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ขึ้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งที่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปีพ.ศ 2310
และมีหลักฐานว่ามีการกลับมาใช้พื้นที่วัดอีกครั้งเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

วัดกระซ้าย

วัดกระชาย แท้จริงแล้วคือ “วัดเจ้าชาย” สันนิษฐานกันว่าสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อเป็นวัดประจำพระองค์ และเวลาไล่เลี่ยกัน ท่านได้สร้าง วัดวรเชษฐ์ สมัยโบราณถูกเรียกว่า “วัดเจ้า ชษฐ์” ถือเป็นวัดประจำพระองค์พระนเรศวร แต่ที่มาเพี้ยนเป็น “วัดวรเชษฐ์” นั้น อนุมานได้ว่าเป็นเพราะภายหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถได้พระราชทานชื่อใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระบรมเชษฐาธิราช จึงให้เรียกขานวัดนี้ว่า “วัดวรเชษฐ์” อันแปลว่า “วัดพี่ชายผู้ประเสริฐ” และท่านได้สร้าง วัดมหาเถรคันฉ่องถวายให้กับพระอาจารย์ อันเป็นที่รักและเคารพของพระองค์และพระนเรศวร ที่ทรงไปนิมนต์กลับมาสยามครั้งทรงขึ้นเป็นกษัตริย์นั่นเอง

โดยถ้าดูที่ตั้งของวัดทั้ง 3 จะพบว่า เป็นการตั้งวัดตามคติความเชื่อโบราณ เป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด อันเป็นรูปร่างของการประจุพลังงาน เพื่อที่วัดทั้งสาม เมื่อสวดมนต์พร้อมกันก็จะเป็นคลื่นพลังงานแห่งพระพุทธคุณแผ่ปกคลุมและหนุนนำอยุธยา แต่ในกาลต่อมากลับมีกลุ่มบุคคล ไม่หวังดีเปลี่ยนชื่อวัดเจ้าชายเป็นวัดกระชาย วัดวรเชษฐ์เป็นวัดประเชต (วรเชต) ซึ่งแปลว่าเฉดหัวไป และวัดมหาเถรคันฉ่อง เป็นวัดลอดช่อง ซึ่งเสมือนตั้งใจทำลายวัดสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ไม่ใครได้รับรู้ศึกษา

วัดเจ้าชาย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณทุ่งปากกราน ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่ยังไม่ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อยู่บนเนินกลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าสมัยก่อนมีคูน้ำล้อมรอบบริเวณวัด ปัจจุบันคูน้ำได้เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งนาไปหมดแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาจะมีน้ำเจิ่งนองล้อมรอบวัดและมีความลึกพอสมควร ไม่สามารถเดินทางด้วยเท้าเข้าถึงวัดได้

“ผู้รู้ท่านหนึ่งให้ความรู้ว่า ความสำคัญของวัดเจ้าชาย เป็นที่สถิตของเทพ พรหม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกใจบาปหยาบช้า จึงมีความหวาดกลัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพ พรหม จะมาลงโทษ จึงร่วมกันทำลายเสียเลย ความจริงสิ่งที่ลำลายได้เป็นวัตถุเท่านั้น พลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังเทพพรหมไม่สามารถทำลายได้ พลังเหล่านั้นจะสถิตคงอยู่ตามสภาวะ แต่เมื่อใดก็ตามมีเหตุปัจจัยถึงพร้อมก็จะแสดงออกมา และไม่เฉพาะวัดเจ้าชายเท่านั้น พลังที่สถิตที่วัดวรเชษฐ์และวัดมหาเถระคันฉ่อง ซึ่งเป็นรูปพีระมิด ศูนย์พลังที่ชัดเจนที่สุดคือบริเวณเจดีย์ คนที่เชื่อเท่านั้นที่จะสามารถรับพลังตรงนี้ได้เช่นเดียวกัน”

อ้างอิง : https://soclaimon.wordpress.com

วัดหน้าพระเมรุ กับสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง

เมื่อเอ่ยชื่อวัดหน้าพระเมรุ 90% จะนึกถึงเรื่องราวของวัดที่ไม่ถูกพม่าทำลาย แต่น้อยคนนักค่ะที่จะรู้ว่าวัดหน้าพระเมรุนั้นยังมีอะไรที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยเลย เรามาดูกันค่ะว่าเอ๊ะวัดหน้าพระเมรุนั้นยังมีอะไรที่เรามองข้ามหรือไม่รู้กันบ้างนะ

CR : FB : K.Sittichok chanisa

หากเดินเข้าไปตรงด้านหลังเราจะได้พบกับ เจดีย์ราย 3 องค์ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ โดยเจดีย์องค์หนึ่งมีเศียรพระพุทธรูปอยู่ในต้นไม้ ถูกรากไม้รัดติดตรึงอยู่ที่บริเวณต้นนั้น เป็นภาพที่สวยงามแปลกตา

เจดีย์องค์หนึ่งมีโพธิ์ปกคลุมอยู่ โพธิ์ทั้งต้นเติบโตปกคลุมอยู่บนเจดีย์จนมองไม่เห็นยอด เป็นสิ่งแปลกตาและน่าสนใจอีกจุดหนึ่งของวัดหน้าพระเมรุ แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงมากนักค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับข้อมูลที่แอดมินนำมาฝากกัน หวังว่าเพื่อนๆที่ติดตามอยุธยาสเตชั่นจะได้รับความรู้ที่แปลกใหม่ไม่น้อยเลยนะคะ แอดฝากติดตามบทความของเว็บอยุธยาสเตชั่นด้วยนะคะ ขอบพระคุณทุกๆท่านที่ติดตามมาโดยตลอดค่ะ

 

แสดงความคิดเห็น