ถ้าจะเอ่ยถึงการ “แนะนำที่เที่ยวอยุธยา ” สิ่งที่มักจะคิดถึงอันดับต้นๆก็คือโบราณสถานต่างๆ ซึ่งหนึ่งในสถานที่สำคัญที่หลายๆคนจะนึกถึงเมื่อมาอยุธยาก็คือ “วัดมหาธาตุ” นั่นเองค่ะ เพราะที่วัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัด Unseen Ayutthaya เลยนะคะ วัดนี้มีสถานที่สำคัญและมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์เกิดขึ้นแต่จะเป็นอะไรนั้น ตามแอดมินไปกันเลยค่ะ
เรามาเริ่มกันที่การเดินทางไปยังวัดมหาธาตุ กันนะคะ โดยเราจะตั้งต้นกันที่เจดีย์วัดสามปลื้มหรือที่ชาวอยุธยาจะเรียกกันว่าเจดย์นักเลงนะคะ ถ้าเดินทางมาจาก กทม ก็จะเจอกับด่านนี้แหละค่ะ ก่อนเข้าเมืองอยุธยา
เมื่อเจดีย์นักเลงตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ให้เราขับรถตรงขึ้นไปนะคะไม่ต้องเลี้ยว ขับตามถนนมุ่งหน้าตรงเข้าตัวเมืองมุ่งหน้าตรงไปยังสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อเข้าไปยังฝั่งเมืองค่ะ
เมื่อเราขับผ่านสะพานนี้ลงมาด้านล่าง (ขับตรงลงมา) เราจะเจอกับสี่แยกไฟแดงนะคะ ในที่นี้แอดมินขอเรียกว่า สี่แยกไฟแดงที่ 1 เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น
ผ่านสี่แยกไฟแดงที่ 1 ให้เราขับ (เลนส์ขวา) ตรงไปยังสี่แยกไฟแดงที่ 2 หรือที่ชาวอยุธยาเรียกว่า แยกจิระศาสตร์ ค่า
เมื่อมาถึงแยกไฟแดงที่ 2 จะมีจุดสังเกตง่ายๆคือปั๊ม ปตท และโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยค่ะ จากจุดนี้ไปให้เราเลี้ยวขวานะคะ ขับเลียบถนนข้างโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยไปได้เลยค่ะ ขับไปจะเจอกับวงเวียน ตามรูปด้านล่างค่ะ
เมื่อมาเจอกับวงเวียนตรงจุดนี้ เราต้องวนด้านซ้ายและขับตรงไปตรงถนนด้านหน้านะคะ (ไม่ต้องวนเป็นวงกลม)
ขับตามถนนไปจะเจอกับวัดมหาธาตุ ทางด้านซ้ายมือนะคะ (รูปด้านล่าง)
เมื่อเรามาถึงวัดมหาธาตุกันแล้ว เราเริ่มไปทำความรู้จัก และไปเที่ยวกันเลยค่า
วัดมหาธาตุ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของจังหวัดอยุธยา เพราะวัดนี้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น และยังคงเป็นเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุกลางเมือง เป็นที่พำนักของ สมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีอีกด้วย
ประวัติ
ตามประวัติแล้วได้มีการสันนิษฐานว่าวัดนี้ได้ริเริ่มสร้างองค์พระมหาธาตุขึ้นในแผ่นดินสมเด็จบรมราชาธิราชที่ ๑(ขุนหลวงพระงั่ว) แต่อาจจะยังไม่สำเร็จในรัชกาลของพระองค์ จนถึงรัชกาของสมเด็จพระราเมศวรจึงทรงสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จบริบูรณ์เป็นพระอาราม แล้วขนานนามว่า”วัดมหาธาตุ”
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓-๒๑๗๑)พระปรางค์เคยพังลงมา เกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะใหม่ โดยเสริมพระมหาธาตุให้สูงยิ่งขึ้น รวมเป็นความสูง 25 วา ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับ พระราชหัตถเลขาว่า“ศักราช ๙๙๕ (พ.ศ.๒๑๗๖) ปีระกา เบญจศก ทรงพระกรุณาให้สถาปนา
พระปรางค์อันทำลายลง เก่าเดิมในองค์สูง ๑๙ วายอดนภศูลสูง ๓ วาจึงดำรัสว่า ทรงเก่าล่ำนัก ให้ก่อใหม่ไห้องค์สูงเส้น ๒ วายอดนภศูลคงไว้ เข้ากันเป็นเส้น ๕ วา (๕๐เมตร) ก่อแล้วเห็นเพรียวอยู่ ให้เอาไว้มะค่ามาแทรก ตามอิฐเอาปูนบวก ๙ เดือนสำเร็จให้กระทำการฉลองเป็นอันมาก”หลังจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของวัดนี้อีกเลย
ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกครั้งหลังใน พ.ศ.๒๓๑๐ ในคราวนั้นวัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายมาก พระอุโบสถและวิหาร ตลอดจนกุฏิสงฆ์ถูกเผาผลาญยับเยิน คงเหลือแต่ซากผนังและตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาวัดแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งพระยาไชยวิชิต (เผือก)ผู้รักษาการกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่๓ทำการซ่อมวัดหน้าพระเมรุที่ริมครองสระบัวขึ้นใหม่หมดทั้งวัด จึงได้เชิญพระพุทธรูปองค์นั่งห้องพระบาทไปประดิษฐานไว้ในวิหารน้อย ซึ่งอยู่ในวัดหน้าพระเมรุจนบัดนี้
วัดนี้จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในมรดกโลก นักท่องเที่ยวส่วนมากจะไม่พลาดมาชมเศียรพระพุทธรูปในรากไม้ เพราะเป็นภาพที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเกือบทุกแขนงหากพูดถึงอยุธยา
Unseen เศียรพระในต้นไม้
เศียรพระพุทธรูปในต้นไม้ หรือรากไม้นั้น รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยาเหลือไว้แค่เพียงส่วนเศียร สำหรับองค์พระนั้นหายไป เข้าใจกันว่าในสมัยก่อนเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ในสมัยเสียกรุง จากนั้นรากโพธิ์ได้ปกคลุมทำให้มีความงดงามแปลกตาคล้ายไปเยือนปราสาทตาพรหมที่นครวัดนครธม
ด้วยความที่เศียรพระพุทธรูปในรากไม้นี้เป็นภาพที่แปลกตา จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในสื่อประชาสัมพันธ์จำนวนมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงองค์กรยูเนสโกอีกด้วย
ซึ่งนอกจากเศียรพระพุทธรูปในต้นไม้แล้ว ยังคงมีจุดสำคัญอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมายเลยนะคะ
ซากพระปรางค์ประธาน
จากหลักฐานพบว่าเดิมปรางค์ประธานของวัดเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มาก และก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงาม เป็นที่น่าเสียดายปัจจุบันปรางค์ประธานได้พังทลายลงมาจนถึงชั้นครุฑในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งได้มีการซ่อมใหญ่ในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ภายในห้องของปรางค์ประธานมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ บ้างอยู่ในปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้ว กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
เดินเล่นชมโบราณสถานอื่นๆ
นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินชมส่วนอื่นๆได้อีกมากมายนะคะ เพราะนอกเหนือจากพระปรางค์ประธานและเศียรพระพุทธรูปแล้วยังมี เจดีย์แปดเหลี่ยม วิหารที่ฐานชุกชี ของพระประธานในวิหาร วิหารเล็ก พระปรางค์ขนาดกลางภายในพระปรางค์ และตำหนักพระสังฆราช ให้ได้ชมกันอีกด้วยนะคะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับรีวิวฉบับเต็ม ที่แอดมินพาทุกๆท่านมา เที่ยวอยุธยา แบบเต็มอิ่มจัดเต็มกันเลยทีเดียว ทั้งข้อมูลและภาพ เรียกได้ว่าอ่านรีวิวจบ เหมือนได้มาเที่ยวด้วยตัวเองเลยนะคะ
ไว้คราวหน้าแอดมินจะพาไปวัดไหน อย่างไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ