พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง)


“หอส่องกล้อง”

ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ทรงโปรดให้สร้างไว้
#พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง)
พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพระราชวังจันทรเกษม เป็นหอสูง 4 ชั้นสร้างขึ้นในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช แต่เดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้สร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อไว้เป็น หอดูข้าศึก บุกเข้ามาทางแม่น้ำยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่ได้หักพังลงมาเสียเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310

 

หอที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามรากฐานเดิม พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์” ทรงใช้เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรดาว เพราะพระองค์ทรงโปรดวิชาวิทยาศาสตร์มาก ต่อมาพระที่นั่งองค์นี้ชำรุดทรุดโทรม กรมศิลปากรจึงได้ทำการซ่อมแซมขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. 2479 และ พ.ศ. 2511

ปัจจุบันถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ภายในแสดงเครื่องใช้โบราณของจีน เช่น เครื่องลายคราม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 พระพุทธรูป เป็นต้น

พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) ทางด้านทิศเหนือมุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับตลาดหัวรอ
พระราชวังจันทรเกษม สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพื่อใช้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลก เพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อตำแหน่งวังหน้าถูกสถาปนาขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ประทับของวังหน้าเรื่อยมา นับตั้งแต่ สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์

จุดที่ตั้งของพระราชวังจันทรเกษม นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกรุงศรีอยุธยา เพราะตั้งอยู่บริเวณหัวรอ จุดที่บรรจบของแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสัก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ที่นี่เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ.2129
เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พระราชวังจันทรเกษมถูกทำลายและทิ้งร้างไปนาน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาจตุรมุขและพระที่นั่งพิมานรัตยาเพื่อใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสกรุงเก่า และพระราชทานนามว่า “พระราชวังจันทรเกษม”

ภาพ : http://tatedutour.com/
ข้อมูล : วิกิพีเดีย และ tatedutour.com/

แสดงความคิดเห็น