|   เกี่ยวกับอยุธยา – ประวัติความเป็นมา   |

อาณาจักรอยุธยา

เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง
พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจหรือราชธานี ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติจนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดียญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเคยสามารถขยายอาณาเขตประเทศราชถึงรัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน

กรุงศรีอยุธยา

เป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และอาจถือว่าเป็น “เมืองท่าตอนใน” เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีสินค้ากว่า 40 ชนิดจากสงครามและรัฐบรรณาการ แม้ว่าตัวเมืองจะไม่ติดทะเลก็ตาม

มีการประเมินว่า ราว พ.ศ. 2143 กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300,000 คน และอาจสูงถึง 1,000,000 คน ราว พ.ศ. 2243 บางครั้งมีผู้เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า “เวนิสแห่งตะวันออก”

ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ที่เคยเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตัวนครปัจจุบันถูกตั้งขึ้นใหม่ห่างจากกรุงเก่าไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร

 

ประวัติ

การกำเนิดอาณาจักรอยุธยาที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุดนั้น อธิบายว่า รัฐไทยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เจริญขึ้นมาจากราชอาณาจักรละโว้ (ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การควบคุมของขะแมร์) และอาณาจักรสุพรรณภูมิ แหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่า กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เพราะภัยโรคระบาดคุกคาม สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายราชสำนักลงไปทางใต้ ยังที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นนครท่าเรือเดินทะเล ชื่อ อโยธยา (Ayothaya) หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร นครใหม่นี้ถูกขนานนามว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ซึ่งภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา แปลว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้

พระบริหารเทพธานี อธิบายว่า ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนคร และกัมโพชนคร ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมและสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงดำริจะย้ายเมืองและก่อสร้างเมืองขึ้นมาใหม่โดยส่งคณะช่างก่อสร้างไปยังอินเดียและได้ลอกเลียนแบบผังเมืองอโยธยามาสร้างและสถาปนาให้มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา

 

การขยายอาณาเขต

 กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์

เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 อยุธยาก็ถูกพิจารณาว่าเป็น ชาติมหาอำนาจแข็งแกร่งที่สุดในอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ และได้เริ่มครองความเป็นใหญ่โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนือ อย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก ก่อนสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 15 อยุธยาโจมตีเมืองพระนคร (อังกอร์) ซึ่งเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในอดีต อิทธิพลของอังกอร์ค่อย ๆ จางหายไปจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอยุธยากลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทน

อย่างไรก็ดี ราชอาณาจักรอยุธยามิได้เป็นรัฐที่รวมเป็นหน่วยเดียวกัน หากเป็นการปะติดปะต่อกันของอาณาเขต (principality) ที่ปกครองตนเอง และประเทศราชที่สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจ (Circle of Power) หรือระบบมณฑล (mandala) ดังที่นักวิชาการบางฝ่ายเสนอ อาณาเขตเหล่านี้อาจปกครองโดยพระบรมวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยา หรือผู้ปกครองท้องถิ่นที่มีกองทัพอิสระของตนเอง ที่มีหน้าที่ให้การสนับสนุนแก่เมืองหลวงยามสงคราม ก็ได้ อย่างไรก็ดี มีหลักฐานว่า บางครั้งที่เกิดการกบฏท้องถิ่นที่นำโดยเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ท้องถิ่นขึ้นเพื่อตั้งตนเป็นเอกราช อยุธยาก็จำต้องปราบปราม

ด้วยไร้ซึ่งกฎการสืบราชสันติวงศ์และมโนทัศน์คุณธรรมนิยม (meritocracy) อันรุนแรง ทำให้เมื่อใดก็ตามที่การสืบราชสันติวงศ์เป็นที่พิพาท เจ้าปกครองหัวเมืองหรือผู้สูงศักดิ์ (dignitary) ที่ทรงอำนาจจะอ้างคุณความดีของตนรวบรวมไพร่พลและยกทัพมายังเมืองหลวงเพื่อกดดันตามข้อเรียกร้อง จนลงเอยด้วยรัฐประหารอันนองเลือดหลายครั้ง

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 อยุธยาแสดงความสนใจในคาบสมุทรมลายู ที่ซึ่งมะละกาเมืองท่าสำคัญ ประชันความเป็นใหญ่ อยุธยาพยายามยกทัพไปตีมะละกาหลายครั้ง แต่ไร้ผล มะละกามีความเข้มแข็งทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ด้วยได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์หมิงของจีน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 แม่ทัพเรือเจิ้งเหอแห่งราชวงศ์หมิง ได้สถาปนาฐานปฏิบัติการแห่งหนึ่งของเขาขึ้นที่มะละกา เป็นเหตุให้จีนไม่อาจยอมสูญเสียตำแหน่งยุทธศาสตร์นี้แก่รัฐอื่น ๆ ภายใต้การคุ้มครองนี้ มะละกาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของอยุธยา กระทั่งถูกโปรตุเกสพิชิตเมื่อ พ.ศ. 2054

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง

เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชอาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่สองของราชวงศ์ตองอู หรือเรียกว่า “สงครามช้างเผือก”สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกพาไปยังกรุงอังวะ และสมเด็จพระมหิทรา พระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช   เมื่อ พ.ศ. 2111 ราชวงศ์ตองอูรุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช

การฟื้นตัว

หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศเอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาอีกสามปีให้หลัง อยุธยาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของรัฐหงสาวดีหลายครั้ง จนในครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปลงพระชนม์เมงจีสวา (Mingyi Swa) อุปราชาของราชวงศ์ตองอูได้ในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. 2135 จากนั้น อยุธยากลับเป็นฝ่ายบุกบ้าง โดยยึดชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดขึ้นไปจนถึงเมาะตะมะใน พ.ศ. 2138 และล้านนาใน พ.ศ. 2145 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงถึงกับรุกรานเข้าไปในพม่าลึกถึงตองอูใน พ.ศ. 2143 แต่ทรงถูกขับกลับมา หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2148 ตะนาวศรีตอนเหนือและล้านนาก็ตกเป็นของรัฐอังวะ อีกใน พ.ศ. 2157  อยุธยาพยายามยึดรัฐล้านนาและตะนาวศรีตอนเหนือกลับคืนระหว่าง พ.ศ. 2205-07 แต่ล้มเหลว

การค้าขายกับต่างชาติไม่เพียงแต่ให้อยุธยามีสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วย กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อยุธยาค่อย ๆ สูญเสียการควบคุมเหนือหัวเมืองรอบนอก ผู้ว่าราชการท้องถิ่นใช้อำนาจของตนอย่างอิสระ และเริ่มเกิดการกบฏต่อเมืองหลวงขึ้น

การล่มสลาย

หลังจากยุคสมัยอันนองเลือดแห่งการต่อสู้ของราชวงศ์ กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ “ยุคทอง” สมัยที่ค่อนข้างสงบในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อศิลปะ วรรณกรรมและการเรียนรู้เฟื่องฟู ยังมีสงครามกับต่างชาติ กรุงศรีอยุธยาสู้รบกับเจ้าเหงียน (Nguyễn Lords) ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้ เพื่อการควบคุมกัมพูชา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2258 แต่ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่ามาจากราชวงศ์อลองพญาซึ่งได้ผนวกรัฐฉานเข้ามาอยู่ในอำนาจ

ช่วง 50 ปีสุดท้ายของราชอาณาจักรมีการสู้รบอันนองเลือดระหว่างเจ้านาย โดยมีพระราชบัลลังก์เป็นเป้าหมายหลัก เกิดการกวาดล้างข้าราชสำนักและแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถตามมา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย บังคับให้สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร พระอนุชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ขณะนั้น สละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์แทน

พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ทรงยกทัพรุกรานอาณาจักรอยุธยา หลังจากอยุธยาว่างเว้นศึกภายนอกมานานกว่า 150 ปี จะมีก็เพียงการนำไพร่พลเข้าต่อตีกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจเท่านั้น  ซึ่งในขณะนั้น อยุธยาเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพร อย่างไรก็ดี พระเจ้าอลองพญาไม่อาจหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ในการทัพครั้งนั้น

แต่ใน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ พระราชโอรสแห่งพระเจ้าอลองพญา ทรงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน และเตรียมการกว่าสามปี มุ่งเข้าตีอาณาจักรอยุธยาพร้อมกันทั้งสองด้าน ฝ่ายอยุธยาต้านทานการล้อมของทัพพม่าไว้ได้ 14 เดือน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการกองทัพรัฐอังวะได้ เนื่องจากมีกำลังมาก และต้องการทำลายศูนย์อำนาจอย่างอยุธยาลงเพื่อป้องกันการกลับมามีอำนาจ อีกทั้งกองทัพอังวะยังติดศึกกับจีนราชวงศ์ชิงอยู่เนือง ๆ หากปล่อยให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อต่อไปอีก ก็จะเป็นภัยแก่อังวะ และมีสงครามไม่จบสิ้น ในที่สุดกองทัพอังวะสามารถหักเข้าพระนครได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

 

พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา มี 5 ราชวงศ์ คือ

  1. ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ 3 พระองค์
  2. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ 13 พระองค์
  3. ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ 7 พระองค์
  4. ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ 4 พระองค์
  5. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ 6 พระองค์

รวมมีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 33 พระองค์

 

พระราชวังโบราณ อยุธยา

พระราชวังโบราณ อยุธยา คือ พระราชวังหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ประวัติ

เมื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน และ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ เป็นเวลา 98 ปี

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 1991 ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม ใกล้แม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง 2 องค์แรก

มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างในเขตนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด ก็คือ พระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาท 3 องค์นี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 16 พระองค์ เป็นเวลา 182 ปี

ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกล้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีก 2 องค์ คือพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้นวังหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายมี พระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้น ๖ องค์ เป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ 10 พระองค์ เป็นเวลา 137 ปี จนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310

พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานครนั้น ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา

 

พื้นที่

พระบรมมหาราชวังระยะหลังนั้น มีป้อมรอบพระราชวัง 8 ป้อม ประตูน้ำ 2 ประตู ประตูบก 20 ประตู พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ดังนี้บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ไกลๆคือเขตพระราชฐานชั้นกลางแบบแปลนพระราชวังโบราณในศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา องค์ใกล้สุดคือพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ และอีกพระที่นั่งองค์ใหญ่อีก ๒ องค์เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ และส่วนราชการต่าง ๆ เช่น ศาลาลูกขุน ศาลหลวง ศาลาสารบัญชี เป็นต้น

เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาท 3 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของคลังมหาสมบัติ โรงช้าง โรงม้า เป็นต้น
เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ โรงเครื่องต้น และที่อยู่ของฝ่ายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี

พระที่นั่งตรีมุข ในปัจจุบันพบเป็นซากฐาน เมื่อครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้สร้างพลับพลาตรีมุข เพื่อประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบรรพกษัตริย์ในวาระที่พระองค์ครองราชย์ครบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นเวลายาวนานเท่ากับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา[1]
สวนไพชยนต์เบญจรัตน์ อันเป็นที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ ได้แก่ คลังศุภรัตน์ คลังพิมาณอากาศ คลังวิเศษ โรงราชรถ คลังแสง เป็นต้น เช่นเดียวกับหอพระเทพบิดร และหอพระมณเฑียรธรรม
สวนองุ่น เป็นสวนหลวงประจำพระราชวัง มีตำหนักสระแก้ว ตำหนักสวนกระต่าย และตำหนักศาลาลวดตั้งอยู่ บริเวณนี้
วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดหลวงประจำพระราชวัง

 

เหตุการณ์สำคัญในอาณาจักรอยุธยา

พ.ศ. 1893

  • สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และทรงสถาปนาชื่อเมืองว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

พ.ศ. 1912

  • สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเสด็จสวรรคต
  • สมเด็จพระราเมศวรเสด็จขึ้นครองราชย์

พ.ศ. 1913

  • สมเด็จพระราเมศวรทรงสละราชสมบัติให้ขุนหลวงพะงั่ว

พ.ศ. 1931

  • ขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคต
  • สมเด็จพระเจ้าทองลันเสด็จขึ้นครองราชย์
  • สมเด็จพระราเมศวรสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าทองลันแล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งที่2

พ.ศ. 1981

  • เจ้าสามพระยาทรงผนวกกรุงสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. 1991

  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์

พ.ศ. 2112

  • กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่1สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชครั้งที่1
  • สมเด็จพระมหินทราธิราชเสด็จสวรรคต
  • สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนาราชวงศ์สุโขทัย

พ.ศ. 2127

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ที่เมือง แครง

พ.ศ. 2133

  • สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต
  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์

พ.ศ. 2135

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาได้รับชัยชนะ

พ.ศ. 2148

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต
  • สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชย์

พ.ศ. 2231

  • สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต
  • สมเด็จพระเพทราชาเสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง

พ.ศ. 2277

  • สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม

พ.ศ. 2279

  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม

พ.ศ. 2301

  • สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. 2310

  • พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปลายรัชกาล
  • พระยาวชิรปราการสามารถต่อสู้เอาชนะข้าศึกได้สำเร็จกอบกู้เอกราชครั้งที่2ได้สำเร็จ ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและโปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
  • สิ้นสุดราชธานีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 7 เมษายน

 

อ้างอิง

  1.  http://www.ayutthaya.org/
  2.  ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 305.
  3.  ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์. (2542). ท่องเที่ยวไทย. บริษัท สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง จำกัด. ISBN 974-86261-9-9. หน้า 40.
  4. Hooker, Virginia Matheson (2003). A Short History of Malaysia: Linking East and West. St Leonards, New South Wales, Australia: Allen and Unwin. p. 72. ISBN 1864489553. สืบค้นเมื่อ 2009-07-05.
  5. George Modelski, World Cities: –3000 to 2000, Washington DC: FAROS 2000, 2003. ISBN 978-0-9676230-1-6. See also Evolutionary World Politics Homepage.
  6.  “Ayutthaya, Thailand’s historic city”. The Times Of India. 2008-07-31.
  7. Derick Garnier (2004). Ayutthaya: Venice of the East. River books. ISBN 974-8225-60-7.
  8.  “Ayutthaya Historical Park”. Asia’s World Publishing Limited. สืบค้นเมื่อ 2011-09-22.
  9. “The Tai Kingdom of Ayutthaya”. The Nation: Thailand’s World. 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-06-28.
  10. พระบริหารเทพธานี. (2541). ประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒. โสภณการพิมพ์. หน้า 67.
  11.  Higham 1989, p. 355
  12. “The Aytthaya Era, 1350–1767”. U. S. Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 2009-07-25.
  13. Jin, Shaoqing (2005). Office of the People’s Goverernment of Fujian Province, ed. Zheng He’s voyages down the western seas. Fujian, China: China Intercontinental Press. p. 58. สืบค้นเมื่อ 2009-08-02.
  14.  Lt. Gen. Sir Arthur P. Phayre (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta. p. 111.
  15. GE Harvey (1925). History of Burma. London: Frank Cass & Co. Ltd. pp. 167–170.
  16. Phayre, pp. 127–130
  17. Phayre, p. 139
  18.  Wyatt 2003, pp. 90–121
  19.  Christopher John Baker, Pasuk PhongpaichitA history of Thailand. Cambridge University Press. สืบค้นเมื่อ 13-12-2552. p. 22
  20. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 5.
  21. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 6.
  22. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 7.
  23. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 9.
  24. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 10.
  25. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 11.
  26. “The Economy and Economic Changes”. The Ayutthaya Administration. Department of Provincial Administration. สืบค้นเมื่อ 2010-01-30.
  27.  Tome Pires. The Suma Oriental of Tome Pires. London, The Hakluyt Society,1944, p.107
  28. “Ayutthaya”. Mahidol University. November 1, 2002. สืบค้นเมื่อ 2009-11-01.
  29. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 12.
  30. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 13.
  31. “Background Note: Thailand”. U.S. Department of State. July 2009. Archived from the original on 4 November 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-11-08.
  32. Ring, Trudy; Robert M. Salkin (1995). International Dictionary of Historic Places: Asia and Oceania 5. Sharon La Boda. Chicago: Fitzroy Dearborn Publishers. p. 56. ISBN [[Special:BookSources/18844964044|18844964044[[หมวดหมู่:บทความที่มีเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือไม่ถูกต้อง]]]] Check |isbn= value (help). สืบค้นเมื่อ 2009-12-10.
  33. Simon de La Loubère, “The Kingdom of Siam” (Oxford Univ Press, 1986) (1693), p. 49
  34. La Loubère (1693), at 49
  35. James Low, “On Siamese Literature” (1839), p. 177|url=http://www.siamese-heritage.org/jsspdf/2001/JSS_095_0i_Smyth_JamesLowOnSiameseLiterature.pdf
  36. มร.เดอะ ลาลูแบรฺ. จดหมายเหตุลาลูแบรฺฉบับสมบูรณ์, เล่มที่ 1, แปล สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร:ก้าวหน้า. 2510, หน้า 46
  37. มร.เดอะ ลาลูแบรฺ. จดหมายเหตุลาลูแบรฺฉบับสมบูรณ์, หน้า 47
  38. Anthony Reid, South East Asia in the Age of Commerce: Expansion and Crisis (1988), p.71-73
  39. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 128
  40. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 130
  41. มร.เดอะ ลาลูแบรฺ. จดหมายเหตุลาลูแบรฺฉบับสมบูรณ์, หน้า 45
  42. Simon de La Loubère, The Kingdom of Siam (Oxford Univ. Press 1986) (1693), at 9
  43. La Loubère (1693), p.10
  44. La Loubère (1693), p.10
  45. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 129
  46.  สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. หน้า 188
  47. สุภรณ์ โอเจริญ. ชาวมอญในประเทศไทย:วิเคราะห์ฐานะและบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2519), หน้า 48-68
  48. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) . พระนคร:คลังวิทยา, 2507, หน้า 145 และ 403
  49. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) , หน้า 446
  50. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) , หน้า 463
  51. นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) . แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร:ก้าวหน้า, 2506, หน้า 62
  52. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 36 ฉบับหอสมุดแห่งชาติ, เล่ม 9. พระนคร:ก้าวหน้า, 2507, หน้า 150
  53. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), หน้า 507-508
  54. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ไทยรบพม่า. พระนคร:คลังวิทยา, 2514. หน้า 235-237
  55. บังอร ปิยะพันธุ์, หน้า 11
  56.  บาทหลวงตาชารด์, แปล สันต์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด. กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, 2517, หน้า 46
  57. เซอร์จอห์น เบาริง แปล นันทนา ตันติเวสส์. หน้า 73
  58. พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสสมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงเทพฯ:บรรณกิจ, 2523. หน้า 72
  59. เซอร์จอห์น เบาริง แปล นันทนา ตันติเวสส์. หน้า 95-115
  60. สุภัตรา ภูมิประภาส. นางออสุต:เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 11 กันยายน 2552 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2552. หน้า 93
  61. ภาสกร วงศ์ตาวัน. ไพร่ ขุนนาง เจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ:ยิปซี, หน้า 80
  62. ไกรฤกษ์ นานา. 500 ปี สายสัมพันธ์สองแผ่นดินไทย-โปรตุเกส. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553 หน้า 126
  63. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?, หน้า 190
  64. Liberman (2003), “Strange Parallel Southeast Asia in Global Context c. 800 – 1830, Vol. 1”, at 313-314
  65. Liberman (2003), Strange Parallel Southeast Asia in Global Context, at 324
  66. Van Vliet (1692), “Description of the Kingdom of Siam” (L.F. Van Ravenswaay trans.), at 82
  67. Liberman (2003), “Strange Parallel Southeast Asia in Global Context”, at 329-330
  68. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 132
  69. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 133
  70.  สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 130
  71. สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่านย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. หน้า 144
  72. อาทิตย์ ทรงกลด. เรื่องลับเขมรที่คนไทยควรรู้. กรุงเทพฯ:สยามบันทึก, 2552, หน้า 106
  73. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 14.
  74. Donald Frederick Lach, Edwin J. Van Kley, “Asia in the making of Europe”, pp. 520–521, University of Chicago Press, 1994, ISBN 978-0-226-46731-3
  75.  “The Beginning of Relations with Buropean Nations and Japan (sic)”. Thai Ministry of Foreign Affairs. 2006. สืบค้นเมื่อ 2010-02-11.
  76. Smithies, Michael (2002). Three military accounts of the 1688 “Revolution” in Siam. Bangkok: Orchid Press. pp. 12, 100, 183. ISBN 974-524-005-2.
  77. https://th.wikipedia.org/wiki//เหตุการณ์สำคัญในอาณาจักรอยุธยา
  78. อยุธยา Discovering Ayutthaya หน้า 62-65
  79. วิไลรัตน์. 2546. กรุงศรีอยุธยา. อมรินทร์พริ้นติ้ง
  80. เครดิตภาพ http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2008/06/10/entry-1