๔๑๗ ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแห่งสยามประเทศ เป็นหลักฐานที่สามารถบ่งบอกได้ว่า
“กรุงศรีอยุธยา” เป็นราชธานีที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน
ซึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันก็ยังมีร่องรอย หลักฐาน แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพ
และความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษเอาไว้ เป็นอย่างดี
จึงไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมคะที่เหล่านักท่องเที่ยว จะอยากมาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเรา
เพราะที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่เป็นมรดกโลก
ที่มีทั้งวัด พระราชวัง หรือแม้แต่ตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส
วันนี้แอดมินจะพาเพื่อน ๆ เที่ยวกรุงเก่า ด้วยการทัวร์เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามวัดและสถานที่ต่างๆ
ที่สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันค่ะ เริ่มกันที่…
วัดพระศรีสรรเพชญ์
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวง
เทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับบริเวณนี้
ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือ และอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕
องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา
และองค์ที่สองคือองค์กลาง เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระบรมเชษฐา
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๔๒ ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ. ๒๐๔๓ ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา (๑๖ เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (ประมาณ ๑๗๑ กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด
ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯ และบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ”
สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร)
พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา
ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
และมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
จากนั้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน