เกร็ดความรู้สิบประการเกี่ยวกับขุนนางไทย
๑. ตำแหน่งชั้นยศขุนนางไทยมีกี่ระดับ?
ถ้าในทำเนียบตำแหน่งขุนนางที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงนั้นจะมีอยู่ ๘ ชั้นยศคือหมู่ (นาย) , พัน , หมื่น , ขุน , หลวง , พระ , พระยา , และเจ้าพระยาครับ โดยการแต่งตั้งหรือการโยกย้ายขุนนางจะมีสองวิธีคือ
– ขุนนางชั้นผู้น้อยนับตั้งแต่ตำแหน่งหมู่ พัน หมื่น และขุนนี้ เจ้านายต้นสังกัด (อันหมายถึงขุนนางผู้บังคับกรมกอง เจ้าผู้ครองเมือง ไปจนถึงเจ้านายในราชวงศ์ผู้ปกครอง) สามารถแต่งตั้งเองได้ตามที่เห็นสมควรแก่ราชการครับ ซึ่งก็เหมือนกับการแต่งตั้งตำแหน่งหมู่ จ่า และนายดาบในกองทัพทุกวันนี้ที่ผู้บังคับบัญชาสามารถแต่งตั้งได้โดยไม่ต้องผ่านการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนี่ล่ะครับ
– ขุนนางชั้นผู้น้อยในกรมกองสำคัญอย่างหมื่นและขุน หรือขุนนางผู้ใหญ่นับแต่ชั้นหลวงขึ้นไป จะเป็นตำแหน่งที่ทางราชสำนักจะจัดสรรแต่งตั้ง ห้ามมิให้มีการเลื่อนขั้นหรือโยกย้ายกันเองโดยเด็ดขาดครับ เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญที่องค์พระมหากษัตริย์จะทรงวินิจฉัยแต่งตั้งด้วยพระองค์เอง เหมือนกับตำแหน่งเหล่าทหารมหาดเล็กในราชสำนัก ตำแหน่งนายร้อยไปจนถึงชั้นนายพลในสายกลาโหม และข้าราชการระดับชำนาญการในสายพลเรือนที่ต้องมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นการจำเพาะอย่างเช่นในทุกวันนี้นี่เอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากตำแหน่งหลักทั้งแปดแล้วก็ยังมีตำแหน่งจำเพาะอีกชั้นหนึ่งคือ “จมื่น” หรือ “พระนาย” โดยตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งในกรมทหารมหาดเล็กที่รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีอำนาจสูงกว่าหลวง แต่ก็ไม่เท่าพระ และผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งนี้มักจะต้องเป็นพวกลูกหลานขุนนางชั้นสูงหรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้นครับ
ส่วนตำแหน่งใหม่ “สมเด็จเจ้าพระยา” นี้เป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งมีมาในสมัยกรุงธนบุรี – กรุงรัตนโกสินทร์ โดยขุนนางที่ได้ครองตำแหน่งนี้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ก็คือ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ผู้ที่ต่อมาจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีนั้นเองล่ะครับ
๒. ตำแหน่ง “ออก” นี้มันมาจากไหน?
ตำแหน่ง “ออก” นั้นเป็นคำขานบรรดาศักดิ์ของเขมรครับ เพราะราชสำนักไทยในสมัยอโยธยา (อยุทธยาตอนต้น) และสุโขทัยต่างก็ใช้ระบบขุนนางมาจากราชสำนักเขมรอยู่ก่อนแล้ว โดยเขาจะใช้เรียกนำหน้าตำแหน่งขุนนางตั้งแต่ชั้นขุนไปจนถึงพระยา โดยส่วนของตำแหน่งพระยานั้นจะเรียกว่า “ออกญา” ต่างหากครับ
อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบแน่ชัดว่าการเรียกตำแหน่งออกนี้มายุติลงเมื่อใดกันแน่ แต่เชื่อได้ว่าธรรมเนียมการยกเลิกนามว่าออกนั้นน่าจะเลิกไปในช่วงสิ้นกรุงศรีอยุทธยานี้ล่ะครับ เพราะครั้นเมื่อมาถึงยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่มีการขานนามออกนำหน้าตำแหน่งอีกเลยนั่นแล
๓. ขุนนางไทยมีการแบ่งเป็นฝ่ายบุ๋น (พลเรือน) และฝ่ายบู๊ (กลาโหม) แบบจีนหรือไม่?
มีแน่นอนครับ เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการจัดตั้งระบบสองมหาเสนาบดีขึ้นเป็นครั้งแรกคือ “ออกญาจักรี” และ “ออกญามหาเสนา” ตำแหน่งออกญาจักรีนั้นคุมสมุหนายกหรือกิจการฝ่ายพลเรือน ส่วนออกญามหาเสนามีอีกชื่อว่า “ออกญากลาโหม” นั้นคุมสมุหกลาโหมหรือกิจการกองทัพและการทหารทั้งหมด โดยทั้งสองตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่เป็นรองลงมาจากพระมหากษัตริย์และถือว่าเป็นผู้นำของเหล่าขุนนางใหญ่น้อยทั้งปวงอีกด้วย
ครั้นเมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์สุโขทัยก็มีการปรับเลื่อนตำแหน่งนี้ขึ้นมาเป็นชั้นเจ้าพระยาดังปรากฏนาม “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ว่าเป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญในการทำศึกขับไล่ทัพพญาพะสิมและศึกตีเมืองทวายกับตะนาวศรี ส่วนพระราชมนู ขุนศึกคู่พระราชหฤทัยของสมเด็จพระนเรศฯก็ได้รับการอวยยศขึ้นเป็น “เจ้าพระยามหาเสนาบดี” คุมอำนาจกลาโหมและการทหารทั้งปวง แต่กระนั้นก็มิได้เป็นบทตายตัวว่ามหาเสนาบดีทั้งสองจะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาเสมอไป เพราะในบางสมัยก็มีการลดอำนาจลงมาเป็นออกญาหรือพระยาดังเดิมอีกครั้ง จวบจนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้วจึงให้คงสถานะเป็นเจ้าพระยาอย่างถาวรนับตั้งแต่นั้น
อย่างไรก็ตามครับ ถ้าบ้านเมืองมีศึกสงครามเมื่อใดแล้ว เหล่าข้าราชการและไพร่ในสังกัดสมุหนายกและกลาโหมก็ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำศึกด้วยเหมือนกันทั้งหมดนั้นล่ะครับ ไม่ได้แยกกันอย่างชัดเจนฝ่ายจีนแต่อย่างใด เพราะตามขนบกฏหมายของไทยแต่เดิมถือว่าชายทุกคนในแผ่นดินคือทหาร ดังนั้น เหล่าขุนนางและไพร่ในทุกสังกัดกรมกองจึงล้วนแต่เป็นทหารเหมือนกันทั้งหมดนั่นล่ะครับ
๔. ขุนนางสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดได้หรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่ได้” ครับ ซึ่งแต่เดิมมีการสันนิษฐานว่าขุนนางน่าจะเคยสืบทอดตำแหน่งตามสายเลือดได้มาก่อน แต่เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูประบอบการปกครองของประเทศแล้ว อำนาจการแต่งตั้งขุนนางจึงตกเป็นสิทธิ์ขาดของราชสำนักไปโดยปริยาย ด้วยเหตุผลเพื่้อป้องกันมิให้เหล่าขุนนางสะสมกำลังอำนาจจนสามารถท้าทายราชบัลลังก์ได้ โดยแนวคิดนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวินิจฉัยว่าแนวคิดการแต่งตั้งขุนนางของไทยนี้มีความคล้ายคลึงกับระบบขุนนางของจีนอยู่มากทีเดียว แต่จะต่างกันตรงที่ว่าระบบขุนนางของไทยเราไม่มีการสอบคัดเลือกอย่างจีนครับ
อย่างไรก็ตาม ราชสำนักก็ยังมีข้อละเว้นให้กับขุนนางผู้ลูกมีความชอบต่อแผ่นดินจริงๆ คือมีความชอบในราชการได้เสมอบิดาหรือเหนือกว่าบิดาก็จะได้รับอภิสิทธิ์ให้สืบทอดตำแหน่งของบิดา หรือว่าอวยยศให้สูงกว่าบิดาได้ในทันที
๕. รายได้ขุนนางมาจากไหน?
รายได้ของขุนนางมี ๓ ทางคือ
– เบี้ยหวัดเงินปี – เงินนี้คือค่าใช้จ่ายในหนึ่งปีที่ทางราชสำนักจะพระราชทานให้กับเหล่าขุนนาง ซึ่งระบบเบี้ยหวัดเงินปีนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับจีนอีกเช่นกัน เพราะจีนก็มีระบบเงินปีด้วยเหมือนกันครับ แต่ถ้าเงินปียังไม่พอใช้ ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนที่ ๒ คือ
– ส่วยสาอากร – ขอให้เข้าใจก่อนนะครับว่า ส่วยในยุคโบราณมีเจตนาที่แตกต่างจากส่วยในยุคนี้นะ โดยส่วยในยุคก่อนก็คือหนึ่งในภาษีทั้งสี่คือส่วย อากร จังกอบ และฤชา ซึ่งภาษีทั้งสี่จะมีความหมายต่างๆกันดังนี้คือ
ส่วย – หมายถึง “ค่าคุ้มครอง” ที่ขุนนางเรียกเก็บจากราษฎร เพราะเนื่องจากในสังคมยุคศักดินานั้นเป็นสังคมของการพึ่งพากันและกัน โดยขุนนางให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ในสังกัด โดยเฉพาะในระบบศักดินาของไทยนั้นบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่าไพร่จะต้องมีมูลนายที่ชัดเจน จึงจะได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายโดยชอบธรรม พวกไพร่ในสังกัดก็ตอบแทนความภักดีด้วยการยอมมาเป็นแรงงานให้เมื่อมีเวลาเรียกเกณฑ์แรงงาน หรือจ่ายเป็นตัวเงินต่อนายเหนือหัวของตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการที่เหล่าขุนนางญี่ปุ่นและอัศวินยุโรปเรียกภาษีนี้จากราษฎรในศักดินาของตนเองนั่้นล่ะครับ
จังกอบ – หมายถึงภาษีที่ทางการจะเรียกเงินเป็นจำนวนชัก ๑ ใน ๑๐ ของราคาสินค้าทั้งหมด หรือกล่าวคือ “ภาษีผ่านด่าน” ครับ
ฤชา – มันก็คือ “ค่าธรรมเนียม” สำหรับการดำเนินเรื่องต่างๆกับหน่วยงานราชการ ซึ่งก็รวมถึงค่าปรับในคดีต่างๆด้วยนั่นล่ะครับ
อากร – หมายถึงภาษีที่เรียกเก็บจากผลประโยชน์ต่างๆของเหล่าราษฎร ไม่ว่าจะเป็นค่าที่ดิน ค่าที่นา ค่าโรงเรือนต่างๆ ฯลฯ หรือกล่าวคือมันคือ “ภาษีโรงเรือน” ในทุกวันนี้นั่นล่ะครับ
แน่นอนครับว่า บรรดาภาษีเหล่านี้ล้วนแต่ถูกนำเก็บเข้ากรมคลังทั้งหมด แต่พวกขุนนางสามารถหักรายได้ส่วนนึงจากภาษีเหล่านี้เข้ามาเป็น “ค่าบำรุง” หรือรายได้ส่วนตัวได้ แต่เพื่อป้องกันการคดโกงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงจนทำให้ราษฎรเดือดร้อน จึงต้องมีตำแหน่งยกกระบัตรเมืองคอยควบคุมกันอีกทีนี้แล
– ค้าขาย – สิ่งที่ขุนนางไทยเหนือกว่าขุนนางชนชั้นอื่นๆก็คืออิสระภาพในการค้าขายนี้ล่ะครับ เพราะในขณะที่ขุนนางญี่ปุ่นและจีนถูกตรากฏว่าห้ามค้าขาย แต่ขุนนางไทยกลับสามารถค้าขายได้เป็นอิสระและเปิดเผย ซึ่งในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ขุนนางกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองในสมัยอยุธยา” ของคุณมานพ ถาวรวัฒน์กุลได้นำเสนอข้อสันนิษฐาน ขุนนางอยุทธยาน่าจะเริ่มได้รับสิทธิ์เสรีภาพทางการค้าอย่างจริงจังในยุคสมเด็จพระมหาธรรมราชแห่งราชวงศ์สุโขทัย (พระบิดาของสมเด็จพระนเรศฯ) เพราะเนื่องจากราชสำนักอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมจากภัยสงครามกับพม่าในรัชกาลก่อน และยังมีเหตุภัยคุกคามของพวกเขมรอีกด้วย สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงเปิดโอกาสให้เหล่าขุนนางสามารถค้าขายได้เป็นอิสระเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติโดยเร่งด่วน จึงทำให้กรุงศรีอยุทธยาสามารถฟื้นตัวจนสามารถทำสงครามขนาดใหญ่กับทั้งพม่าและเขมรได้พร้อมกันในเวลาต่อมา และในหลักฐานของฝั่งญี่ปุ่นรายงานว่ามีเรือสำเภาของเหล่าขุนนางอยุทธยาที่เข้ามาทำการค้าขายส่วนตัวกับญี่ปุ่นอยู่หลายครั้ง อันแสดงให้เห็นว่าเหล่าขุนนางใหญ่ในสมัยนั้นมีความมั่งคั่งร่ำรวยสูงมากเลยทีเดียวล่ะครับ
๖. ลูกหลานขุนนางไปทำมาหากินอย่างอื่นได้หรือไม่?
คำถามนี้ผมเจอบ่อยมากในหมู่นักเขียนและนักอ่านนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยว่า ลูกหลานขุนนางไปทำมาหากินหรือทำอาชีพอื่นนอกจากการรับราชการได้หรือไม่ คำตอบคือ ถ้าไม่เป็นขุนนางแล้วจะไปเป็นอะไรล่ะครับ?
เพราะสังคมไทยในยุคนั้นมีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน และแม้ว่าขุนนางและไพร่จะมีสิทธิทางการค้าได้เหมือนกัน แต่สิทธิ์ของการเป็นขุนนางนั้นยังถือว่าเหนือกว่าเป็นไพร่ตรงที่ทางการเลี้ยงดูให้มีเบี้ยหวัดเงินปี และสิทธิ์ทางการค้าระหว่างประเทศด้วย จึงทำให้คุณภาพชีวิตของขุนนางย่อมเหนือกว่าไพร่อยู่แล้วล่ะครับ และด้วยการเข้ารับราชการนั้นมิใช่เพียงแค่เรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้าในปัจจุบัน หากแต่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของตระกูลเอาไว้ด้วยเช่นกัน
ด้วยดังที่ผมได้บอกไปแล้วว่า แม้ว่าขุนนางจะไม่สามารถสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดได้ แต่การเข้ารับราชการนั้นเป็นหนึ่งในหนทางของการรักษาและเพิ่มพูนมรดกและทรัพย์สมบัติหรือที่เรียกว่า “กงสี” ของตระกูลที่มีอยู่ให้มียิ่งๆขึ้นไปด้วยนั้นเองล่ะครับ
ดังนั้น ผมว่าไอ้การที่จะมี “ลูกขุนนางอินดี้” รักอิสระแบบลูกไฮโซที่ลดฐานันดรของตัวเองมาประกอบกิจการส่วนตัวอย่างในทุกวันนี้ มันคงจะไม่มีกะเขาหรอกครับ หรือต่อให้มีจริง ยังไงต้องพึ่งกงสีครอบครัวมาหากินเหมือนกันอยู่ดีล่ะครับ – ไม่ได้พ้นบารมีพ่อบารมีแม่ไปง่ายๆหร็อก!
๗. ขุนนางต้องไปทำงานทุกวันแบบข้าราชการในทุกวันนี้หรือไม่?
ไม่หรอกครับ เพราะแม้ว่าระบบราชการของเราจะมีการจัดตั้งกรมกองมาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ให้ขุนนางไปเข้ากรมทำงานทุกวัน ซึ่งเขาจะมีเวรการขึ้นเฝ้ากรมอยู่ในกรมกองของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนขุนนางที่ไม่ได้ขึ้นเวรก็สามารถทำงานอยู่กับบ้านหรือไปหารือที่บ้านของคนในกรมได้อย่างที่เห็นในละครจริงๆนั่นล่ะครับ
๘. ขุนนางแต่งเครื่องแบบตลอดเวลาหรือไม่?
ไม่ครับ เพราะว่าผ้าในยุคนั้นเป็นผ้าคุณภาพต่ำมาก ไอ้การจะเอามานุ่งใส่บ่อยๆก็รังแต่จะทำให้ผ้าเปื่อยยุ่ยได้ง่าย และแม้ว่าขุนนางกับเหล่าคหบดีจะมีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อขายผ้าชั้นดีจากต่างประเทศได้ แต่มันก็ยังเป็นผ้าด้อยคุณภาพกว่าผ้าในยุคนี้อยู่ดีล่ะครับ เกิดใส่บ่อยๆก็มีเปื่อยไม่ต่างจากผ้าพื้นเมืองเช่นกัน
ดังนั้น เวลาเหล่าขุนนางอยู่บ้านหรือเข้าเวรในกรม พวกเขาก็จะแต่งนุ่งผ้าลอยชายไปมาหรือนุ่งโจงให้กระชับซักหน่อยเท่านั้นล่ะครับ แต่ถ้ามีเหตุให้เข้าเฝ้าถวายงานรับใช้องค์พระมหากษัตริย์แล้ว พวกเขาก็แค่ปรับเป็นนุ่งผ้าโจงที่กระชับและมีผ้าคาดเอวเสริมขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้แต่งตัวสวมเสื้อเครื่องเต็มยศแต่อย่างใด นอกจากจะเป็นพระราชพิธีสำคัญเช่นพระราชพิธีทางทหารที่ต้องมีการสวมเสื้อเครื่องกันตามแต่ละกรมกองกันแบบเต็มสูบ พระราชพิธีเสด็จออกรับคณะราชทูตจากต่างแดนที่ต้องจัดเต็มเพื่อแสดงความหรูหราอลังการของราชสำนักให้เหล่าทูตได้ชื่นชมนั้นเอง
อ้อ ลืมบอกไปครับ ไม่จำเพาะกับราษฎรและขุนนางเท่านั้น แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์เองก็ไม่สวมฉลองพระองค์ในเวลาราชการเหมือนกันล่ะครับ แต่จะทรงพระภูษานุ่งแบบเดียวกับขุนนางนั้นล่ะครับ ซึ่งถ้าใครนึกไม่ออกก็ลองไปหาเรื่องฟ้าใหม่มาดูกันก็แล้วกันครับ เพราะนับแต่องค์กษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ยันบ่าวไพร่ก็เปลื้องผ้าและทรง/สวมแต่ผ้านุ่งเหมือนกันหมดล่ะครับ
๙. เครื่องยศขุนนางมีอะไรบ้าง?
เครื่องยศหลักๆของขุนนางก็จะมีเสื้อเครื่อง (หรือที่เรียกว่า “เสื้อสนอบ”) หมวกแบบต่างๆ (ยุคแรกๆจะมีแค่หมวกเบี่ยง แต่หลังๆมามีหมวกเส้าสูง เส้าสะเทิ้น และทรงประพาส) ผ้าคาดเอว ผ้านุ่ง เครื่องโลหะอย่างพวกพานหมาก และดาบประจำตำแหน่งครับ
กระนั้น ในส่วนของเครื่องพานหมากนั้น พวกขุนนางทั่วไปจะได้ใช้แค่เครื่องทองเหลืองขัดเงาเท่านั้นนะครับ แต่ถ้าเป็นพวกเครื่องทองแท้นั้นจะเป็นของพวกชั้นพระยาขึ้นไป มันจึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า “พระยาพานทอง” ยังไงล่ะครับ
๑๐. ไพร่ขึ้นมาเป็นขุนนางได้หรือไม่?
คำตอบคือได้ครับ โดยวิธีการที่ไพร่จะขึ้นมาเป็นขุนนางนั้น สิ่งสำคัญเลยก็คือจะต้องอ่านออกเขียนได้และมีความชอบในราชการต่างๆ หรือว่าไปช่วยหลวงทำงานบ่อยไม่เคยขาดจนได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ ทางการก็จะแต่งตั้งให้เป็นขุนนางชั้นผู้น้อยอย่างตำแหน่งหมู่ นาย หมื่น หรือแม้แต่ขุนให้ได้เลยครับ หรือหาไม่วิธีที่ไวกว่านั้นแต่เสี่ยงโคตรก็คือต้องไปเด็ดหัวข้าศึกที่ยศสูงๆเข้าไว้ครับ เดี๋ยวก็ได้เลื่อนขั้นสี่ห้าขั้นเองล่ะ – ฮา!
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการที่ไพร่จะขึ้นมาเป็นขุนนางจะต้องอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีขุนนางที่อ่านออกเขียนไม่ได้เลยนะครับ ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องคาราคาซังตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาจนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว เพราะแม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่บ้านเมืองเริ่มจะเป็นอารยะกับเขาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรง “บ่น” ว่ามีขุนนางบางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้มารับราชการได้ยังไงเหมือนกันนี่แหละ // แมวน้ำ
ที่มา
– พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์นักสู้ , นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ
– ขุนนางสยาม : ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน พิมพ์ครั้งที่ ๓ , ส.พลายน้อย
– ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ๖๐๐ ปี , อิชิอิ โยะเนโอะ และ โยชิกาวะ โทชิฮารุ
– วิทยานิพนธ์เรื่อง “ขุนนางกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองในสมัยอยุธยา” , คุณมานพ ถาวรวัฒน์กุล
ที่มาของภาพ – http://www.ch3thailand.com/news/scoop/10725