ปลาตะเพียน อยุธยา


คนอยุธยาผูกพันกับสายน้ำมาทั้งชีวิต เจอน้ำหลากทุกปี
และคุ้นเคยกับ “ปลาตะเพียน” ปลาสามัญประจำคลองมาแต่อ้อนแต่ออก

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (รัชกาลที่ 30)
พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก ถึงกับมีรับสั่งห้ามมิให้ราษฎร
จับปลาตะเพียนกิน หากฝ่าฝืนต้องถูกปรับเป็นเงินถึง 5 ตำลึง

ปลาตะเพียน อยุธยา

ปลาตะเพียนถือเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
พวกมันปราดเปรียว ชอบอยู่รวมฝูง ช่วงที่ปลาโตเต็มที่ กินอร่อย
เป็นช่วงที่ข้าวท้องแก่พร้อมเก็บเกี่ยวพอดี
เราเรียกห้วงเวลานี้ว่า “ข้าวใหม่ ปลามัน”

ด้วยความเชื่อนี้ จึงมีชาวมุสลิมบ้านหัวแหลมที่เคยอาศัยในเรือนแพ
เมื่อ 80-90 ปีก่อน ได้ริเริ่มนำใบลานแห้งมาสานเป็นรูปปลาตะเพียน
แล้วผูกเป็นพวงแขวนไว้เหนือเปลเพื่อให้เด็กอ่อนดูเล่น
เป็นการฝึกการมอง สร้างความเพลิดเพลิน และถือเป็นคำอวยพรให้เด็กเติบโต
มีฐานะร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ ญาติมิตรเพื่อนฝูงมากมี และขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน

กระทั่งปัจจุบัน “ปลาตะเพียนสานใบลาน” ก็กลายเป็นหัตถศิลป์คู่อยุธยา
ที่ได้รับความนิยมทั่วไป ทั้งในและนอกประเทศ

CR : Pane Somnuek Jirasakanon

แสดงความคิดเห็น