วัดหัสดาวาส หรือวัดช้าง


วัดหัสดาวาส หรือวัดช้าง


..
เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ถัดจากวัดหน้าพระเมรุไปทางทิศตะวันออก เดิมเคยมีทางเดินติดต่อถึงกัน
วัดหัสดาวาสเป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับวัดหน้าพระเมรุ

ในฐานะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ทรงใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึก
กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ หลังจากนั้นมีเรื่องราว
ปรากฏในพงศาวดารอีกว่า ใน พ.ศ. ๒๓๐๓
ทัพพม่าที่เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา
ได้ตั้งปืนใหญ่ยิงพระราชวัง
ที่วัดพระเมรุราชิการาม และวัดท่าช้าง
วัดท่าช้างที่กล่าวถึงนี้ คงจะได้แก่
วัดหัสดาวาสนั่นเอง เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่
ในบริเวณต่อเนื่องกับวัดหน้าพระเมรุ
และยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดช้าง
ไม่มีหลักฐานระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นแต่เมื่อใด
หากยึดถือเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดาร
ซึ่งกล่าวชื่อวัดนี้มาตั้งแต่สมัย
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็อาจกล่าวได้ว่า
คงจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
ก่อนรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
หรือรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
เป็นอย่างช้า สภาพของวัดในปัจจุบัน
คงเหลือสิ่งก่อสร้างที่ยังคงสภาพอยู่น้อย
ในจำนวนนั้นมีเจดีย์ ๑ องค์
ซึ่งอาจกำหนดอายุให้อยู่
ในสมัยอยุธยาตอนต้นยุคที่ ๒
นับแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา

นับว่าค่อนข้างจะสอดคล้องกัน
กับหลักฐานการกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร
สิ่งก่อสร้างในวัดหัสดาวาสในปัจจุบัน
มีดังนี้
๑. เจดีย์ประธาน
เป็นเจดีย์ขนาดค่อนข้างใหญ่ทรงกลมหรือที่มักเรียกกันว่า ทรงลังกาตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดเจดีย์ทรงลังกาไว้ในกลุ่มของเจดีย์ที่ นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยายุคที่ ๒ คือ ช่วงเวลานับแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นครอง ราชย์ที่พิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๖ ลงมาจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อย่างไรก็ดีเจดีย์ทรงลังหาหรือทรงกลมก็มีที่สร้างกันในสมัยอยุธยายุคที่ ๑ ด้วย ฐานเจดีย์องค์นี้เป็นฐานประทักษิณ ซึ่งหมายถึงฐานที่มีพื้นที่เป็นลานให้เดินเวียนประทักษิณ คือเดินเวียนขวานมัสการพระเจดีย์ ๑ แต่สำหรับเจดีย์องค์นี้คงไม่ได้ตั้งใจสร้างให้เป็นที่เดินเวียนประทักษิณรอบเจดีย์ตามความหมายที่แท้จริง เพราะมีเนื้อที่แคบฐานประทักษิณนี้เดิมมีลูกกรงรอบ ๒ แต่ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว

๒. เจดีย์แปดเหลี่ยม ถัดจากเจดีย์ประธานไปทางทิศตะวันตก มีเจดีย์อีก ๑ องค์ สภาพชำรุดยอดหักเป็นโพรงเหลือแต่แกนอิฐ แต่ยังพอมองเห็นลักษณะได้คร่าวๆ ว่าเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ได้กล่าวถึงลักษณะของเจดีย์องค์ไว้ในหนังสือชื่อ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” พอสรุปได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงสูง องค์เจดีย์แปดเหลี่ยม บัลลังก์แปดเหลี่ยม มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดับล้อมรอบบัลลังก์ประทับในซุ้มเรือนแก้ว จำนวนทั้งหมด ๑๖ องค์

๓. เนินวิหาร ระหว่างเจดีย์ทั้งสององค์นี้ มีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นเนินดินฐานวิหารซึ่งพังทลายหมดสภาพไปแล้ว วัดหัสดาวาสคงจะร้างมาตั้งแต่คราวเสียกรุง และสภาพคงจะเสียหายมากจนยากที่จะทำการบูรณปฏิสังขรณ์ เพราะมิฉะนั้นเมื่อพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในรัชกาลที่ ๓ มาทำการปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุซึ่งตั้งอยู่ติดกัน ก็น่าจะได้สงเคราะห์ทำการปฏิสังขรณ์วัดนี้เสียด้วยแล้ว

แต่กระนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทำการสำรวจทำผังวัดนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ วัดนี้ก็ยังมีซากปรักหักพังของเจดีย์ขนาดเล็ก นอกเหนือเจดีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่อีก ๔ องค์ (รวมเป็นเจดีย์ ๖ องค์) และซากมณฑปอีก ๒ องค์

CR: ข้อมูลชมรมอนุรักษ์วัดไทย

#อยุธยา #เที่ยวอยุธยา #แนะนำที่เที่ยวอยุธยา

แสดงความคิดเห็น