#พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท
คือพระที่นั่งองค์หนึ่งในเขตพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สร้างขึ้นโดยพระราขดำริของ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยา
เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลาง
แห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม
พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท
เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญ
ของราชสำนักและเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมือง
ของพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รับราชทูต ฯลฯ
แต่พระที่นั่งองค์นี้ถูกเผาทำลายลงทั้งองค์
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ จนในปัจจุบันเหลือแต่ฐาน
และ กำแพงบางส่วนเท่านั้น
ประวัติ
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระนครศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาเป็นช่วงเวลาที่กำลังเจริญเติบโต
เป็นมหานครขนาดใหญ่ พระองค์จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายพระราชวังที่ประทับซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง แห่งราชวงศ์อู่ทอง ไปสร้างใหม่ทางตอนเหนือติดกับกำแพงพระนคร และ แม่น้ำ ส่วนในเขตพระราชวังเดิมนั้นได้ทรงถวายให้เป็นเขตพุทธาวาส หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจกันว่าพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังหลวงแห่งใหม่ก็คือ พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปีพุทธศักราช ๑๙๙๑-๒๐๓๑ โดยเป็นไม้ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นอิฐทีหลัง
ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพระกรุณาฯ
ดำรัสสั่งให้เจ้าพระยากลาโหมเป็นแม่กองทำการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทซึ่งชำรุดอยู่นั้น และโปรดเกล้าให้ปิดทองส่วนยอดทั้งหมด
เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
พม่าได้ทำลายวัดวาอาราม
รวมไปถึงวังหลวงทั้งหมด
พระที่นั่งทุกองค์กลายเป็นซากปรัก
ที่มิสามารถรื้อฟื้นได้อีก
หลังเสียกรุง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูกรุงเก่าขึ้นให้ดังเดิม ดั่งเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทเป็นปราสาทแรกขึ้นใหม่ บนรากฐานเดิมในวังหลวง เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานคำจารึกพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา
แต่ก็ก่อสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากสิ้นรัชกาลของพระองค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้เก็บรักษาพระราชวังหลวงไว้เป็นหลักฐานทางโบราณคดี
ตามแบบนานาอารยประเทศในตะวันตกที่เก็บรักษาสิ่งโบราณไว้ จึงโปรดเกล้าให้รื้อที่สร้างไว้ออก
แล้วย้ายไปสร้างพระมหาปราสาทชั่วคราวเพื่อการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกแทน
ความงดงามในสายตาชาวต่างชาติ
คณะราชทูตลังกาได้กล่าวถึงความงามของพระปราสาทองค์นี้ไว้ว่า “เมื่อถึงเขตพระราชวัง
เห็นปราสาทราชมณเฑียรที่ปิดทองอร่าม
เจ้าพนักงานนำทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังผ่านประตู ๒ ชั้น ที่ประตูนั้นประดับประดาไปด้วยสีทอง เมื่อล่วงประตูชั้นที่สองเข้าไป ก็ถึงพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท สองข้างมุขเด็จพระที่นั่ง
มีรูปภาพต่าง ๆ ตั้งไว้คือ รูปหมี ราชสีห์ รากษส
โทวาริก นาค พิราวะยักษ์ รูปทั้งหลายเหล่านี้ปิดทองเหลืองอร่ามทั้งหมด ตรงรูปหมู่ขึ้นไปเป็นราชบัลลังก์ สูงประมาณ ๑๐ คืบ (พระที่นั่งบุษบกมาลา)
ตั้งเครื่องสูงรอบราชบัลลังก์”
จะเห็นได้ว่า พระที่นั่งองค์นี้นั้น มีพระที่นั่งบุษบกมาลา ซึ่งคล้าย ๆ กับ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งล้วนปิดทองทั้งองค์ งดงามมาก