สะพานบ้านดินสอ 


ในตอนนี้เราจะนำเสนอร่องรอยสะพานโบราณอีกแห่งของกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏในปัจจุบัน นั่นคือ สะพานบ้านดินสอ

สะพานบ้านดินสอ

สะพานบ้านดินสอ เป็นสะพานอิฐข้ามคลองฉะไกรน้อย จากฟากวัดบรมพุทธารามไปยังวัดถนนป่าดินสอ

สะพานบ้านดินสอ

คลองฉะไกรน้อยนี้ ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยอยู่เป็นระยะๆ ที่เห็นได้ชัดคือคลองที่กลายสภาพเป็นสระน้ำอยู่ในเขตพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา (บริเวณที่เรือนไทยสร้างคร่อมอยู่) และบางส่วนในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฎ พระนครศรีอยุธยา

สะพานบ้านดินสอ

ป่าดินสอนี้เป็นย่านการค้าสำคัญของกรุงศรีอยุธยา เป็นย่านที่ขายเครื่องเขียนประเภท “ดินสอ” ซึ่งในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมบันทึกไว้ว่า “ถนนป่าดินสอริมวัดพระงาม มีร้านขายดินสอศิลาอ่อนแก่แลดินสอขาวเหลืองดินสอดำ”

ประเภทของดินสอ ที่ใช้ในสมัยโบราณนี้ ได้มีอธิบายไว้ในหนังสือ “วิชาอาชีพชาวสยาม จากหนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ. ๑๐๓-๑๑๓” สรุปความดังนี้

– ดินสอศิลา คือดินสอที่ทำมาจากหิน ที่นิยมมี ๒ ชนิดคือ

๑. ดินสอขาวได้มาจากหินดินสอเป็นหินชนิดหนึ่งมีเนื้อละเอียดแข็ง ดินสอขาวชนิดดีมีเนื้อดินละเอียดสีขาวจัด เมื่อจะนำมาใช้ต้องเลื่อยให้เป็นแท่งแล้วเหลาตามขนาดที่ต้องการ

๒. ดินสอเหลือง ได้จากป่าแขวงเมืองกาญจนบุรี เป็นหินอ่อนเนื้อสีเหลือง เมื่อสกัดออกมาแล้วจะได้ก้อนดินสอ จากนั้นให้เลื่อยออกเป็นแผ่นๆ ตัดเป็นแท่ง แล้วเหลาให้ได้รูปทรง ส่วนเศษที่เหลานั้นอาจนำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียว แล้วคลึงออกมาเป็นแท่งกลม ยาวคืบหนึ่ง แล้วตากให้แห้ง เรียกว่า “ดินสอปั้น”

– ส่วน “ดินสอดำ” ทำมาจากเขม่าที่ได้จากการเผาไต้เสม็ด นำเขม่าที่ได้นั้นมาบดในโกร่งให้ละเอียด ผสมโขลกกับดินเหนียวและขี้เถ้าแกลบที่บดอย่างละเอียดแล้ว จากนั้นนำไม้มาคลึงให้เป็นท่อน หัวท้ายเรียวแหลม ยาวประมาณ ๒ องคุลี (ราว ๔ ซม.) นำไปผึ่งแดดให้พอหมาด แล้วจึงนำมาผึ่งในที่ร่มจนแห้งสนิท เพื่อป้องกันดินสอเปราะหรือหัก

ที่ย่านคลองฉะไกรน้อยใกล้สะพานบ้านดินสอนี้ เป็นที่ตั้งของ “วัดบรมพุทธาราม” ซึ่งมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ไว้จะนำเสนอต่อๆไปนะคะ

 

CR ข้อมูล : เพจ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

CR ภาพ : เฟซบุ๊ก คุณ sittichok chanisa

แสดงความคิดเห็น