วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา


วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่นอกเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการสันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างขึ้นหลังการสร้างกรุงศรีอยุธยาไม่นานนัก ประมาณปี พศ. ๑๙๐๐ โดยพระองค์โปรดเกล้าให้ขุดศพเจ้าแก้วเจ้าไทยขึ้นมาปลงพระศพ และที่องค์พระศพนั้นให้สถาปนาพระเจดีย์และพระวิหารเป็นพระอาราม

ในพระราชนิพนธ์คำอธิบายฉบับพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ค้านข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่นับว่าสำคัญอยู่ตอนหนึ่งคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างวัดป่าแก้ว แท้จริงวัดนั้นเป็นวัดแก้วฟ้าหาใช่วัดป่าแก้วไม่ พระวินิจฉัยของสมเด็จฯ น่าจะเป็นไปได้มากเพราะพระสงฆ์คณะป่าแก้วนี้เพิ่งมีในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

มีการเล่าต่อกันมาว่า….

ครั้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เมื่อปี พศ. ๒๑๓๕ พระองค์ทรงยกกองทัพออกไปต่อสู้กับข้าศึก จนได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะทรงฟันคู่ต่อสู้จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง การกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้นพระองค์ทรงอยู่ท่ามกลางกองทัพพม่า ด้วยครั้งนั้นทัพต่างๆของกรุงศรีอยุธยาติดตามไปไม่ทันทัพหลวง พระองค์ทรงพระพิโรธแม่ทัพนายกองเหล่านั้น เมื่อเสร็จศึกกลับมาทรงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสีย แต่สมเด็จพระวันรัตพระอาจารย์ของพระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษแล้วทูลแนะนำให้ทรงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้น​ (น่าจะเป็นการสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่)​ ทรงขนานนามว่าพระเจดีย์ชัยมงคล นานวันเข้าวัดนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหญ่ชัยมงคล

พระเจดีย์มีขนาดสูงใหญ่ทรงระฆังเป็นสง่าโดดเด่น จากลักษณะสถาปัตยกรรมขององค์เจดีย์ ได้มีข้อถกเถียงทางวิชาการว่าพระเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันน่าจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย มากกว่าที่จะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นหรือตอนกลาง กล่าวคือแม้หลักฐานตำนานและพงศาวดารจะระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนต้น แต่สิ่งก่อสร้างต่างๆมีการบูรณปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัยนอกจากพระเจดีย์แล้ววัดนี้ยังมีสิ่งสำคัญได้แก่

พระอุโบสถ

อยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ กำแพงด้านข้างทั้งสองของพระอุโบสถหลังเดิมได้รับการรักษาไว้โดยสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ซ้อนขึ้นมาองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปั้นด้วยหินทราย

 

วิหารพระพุทธไสยาสน์

สมเด็จพระนเรศวรโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น ปัจจุบันปรักหักพังหลงเหลือล้อมรอบ เพียงเสา ๒ ต้น ด้านหลังองค์พระและกำแพงบางส่วน องค์พระพุทธไสยาสน์หันพระพักตร์ไปทางตะวันออกเฉียงไปทางทิศใต้ ซึ่งองค์เดิมถูกทำลายไปหมดแล้วองค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปีพศ ๒๕๐๘

 

ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัย

อยู่ใกล้กับวิหารพระพุทธไสยาสน์เล่าขานเป็นตำนานว่า เป็นพระโอรสในพระครรภ์ของพระนางเรือล่ม(สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวีอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕ ) ซึ่งเรือที่ประทับขณะเสด็จมายังพระราชวังบางปะอินเกิดอุบัติเหตุร่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปีพศ. ๒๔๒๓

 

ศาลสมเด็จพระนเรศวร

ซึ่งภายในศาลแห่งนี้มีรูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรเป็นสถานที่ที่มีผู้คนเข้าไปนมัสการกันมาก

แสดงความคิดเห็น