วัดโคกพระยา ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ของวัดหน้าพระเมรุสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
หรือก่อนหน้านั้น เพราะปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ว่าในปีพ.ศ 1925 สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ซึ่งถูกส่งไปครองเมืองลพบุรี ได้เสด็จยกกองทัพมาทำรัฐประหาร
ยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้าทองลัน ซึ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 วัน
และเมื่อก่อการสำเร็จแล้ว ก็โปรดให้นำสมเด็จพระเจ้าทองลัน
ไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา และนับเป็นกษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์
ที่ถูกลงท่อนจันทร์ตามราชประเพณีที่ วัดโคกพระยา
ต่อมาเมื่อมีการประหารชีวิตพระเจ้าแผ่นดินหรือเชื้อพระวงศ์ครั้งใด
วัดโคกพระยา ก็จะถูกระบุว่าเป็นสถานที่ ที่ใช้สำเร็จโทษทุกครั้งไป
เท่าที่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
มีพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเชื้อพระวงศ์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ตามราชประเพณีที่ วัดโคกพระยา แห่งนี้รวม 5 พระองค์
และยังมีเจ้านายอีก 6 พระองค์ที่ถูกสำเร็จโทษมาจากที่อื่น
แล้วนำพระศพมาฝังไว้ที่วัดนี้ ซึ่งความจริงน่าจะมีมากกว่านี้
เพราะการทำรัฐประหารผลัดแผ่นดินแต่ละครั้ง ย่อมหมายถึงชีวิตอีกหลายชีวิต
ของเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ ที่ต้องคอยรับเคราะห์กรรมถูกสำเร็จโทษไปด้วยในฐานะของผู้แพ้
ปัจจุบันนักโบราณคดีไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานที่ชี้ชัด
ถึงจุดซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่เคราะร้ายเหล่าานั้น
แต่หลักฐานจากจดหมายเหตุ วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดา
ยืนยันไว้ชัดเจนว่าสถานที่ ที่ใช้สำเร็จโทษตั้งอยู่นอกเกาะเมืองทางด้านทิศเหนือ
ไม่ไกลจากพระราชวังหลวง ระหว่างวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส
เยื้องไปทางด้านหลัง ซึ่งพิเคราะห์แล้วก็คือตำแหน่งที่ตั้งของ วัดโคกพระยา นั่นเอง
ปัจจุบันภายในบริเวณวัดได้รับการบูรณะปรับแต่งเป็นอย่างดี
และมีการก่อฐานกำแพงแก้วล้อมรอบบริเวณไว้ เข้าใจว่ากรมศิลปากร
คงทำขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆบริเวณลุกล้ำเข้าไปในเขตโบราณสถาน
เมื่อพิเคราะห์จากลักษณะของเจดีย์ประธานทรงกลม
หลังพระอุโบสถซึ่งหันหน้าไปทางคลองสระบัว
บ่งบอกว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น
ทางด้านตะวันออกนอกกำแพงวัด มีพื้นของอาคารหลังหนึ่งตั้งอยู่
ดูไม่ออกว่าคือสิ่งก่อสร้างอะไรอาจเป็นวิหาร หรือศาลาก็สุดจะคาดเดา
แต่จุดที่น่าสนใจแห่งหนึ่งคือบริเวณที่ชาวบ้านที่ให้ดูว่า
เคยมีต้นจันทน์ขนาดใหญ่อายุนับร้อยปีขึ้นอยู่ทางด้านตะวันตก
ของพระอุโบสถค่อนไปทางแนวกำแพง
ต้นจันทร์อาจมีความเกี่ยวพันกับท่อนจันทร์
และแดนสำเร็จโทษแห่งนี้หรือไม่อย่างไร
เป็นข้อสังเกตที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูล : จากหนังสืออยุธยาที่ไม่คุ้นเคย
ผู้แต่ง : คุณปวัตร์ นวะมะรัตน