ทำไม วัดหน้าพระเมรุ จึงไม่ถูกพม่าเผาทำลาย


ถ้าเอ่ยถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดหน้าพระเมรุ ถือเป็นอีกหนึ่งวัดที่ต้องมาให้ได้เลยนะคะ และวันนี้เราไปทำความรู้จักกับวัดนี้กันค่ะ วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่นอก เกาะเมืองด้านเหนือริมคูเมืองตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม”​ มีฐานะเป็นพระอารามหลวง

 

 

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าผู้สร้างเอานาม “วัดหน้าพระเมรุ” ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาตั้งชื่อ เดิมที่ตั้งของวัดน่าจะเป็นสถานที่สร้างพระเมรุ ถวายพระเพลิงพระศพพระมหากษัตริย์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ ๒๐๔๖

วัดหน้าพระเมรุมีสิ่งสำคัญ ดังนี้

วัดหน้าพระเมรุ จ.อยุธยา

 

พระอุโบสถมีความยาว ๕๐ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น คือไม่มีหน้าต่างแต่เจาะช่องไว้เป็นลูกกรงและมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าพระอุโบสถสู่ทิศใต้ มีเสาเหลี่ยม ๒ แถว แถวละ ๘ ต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถ

วัดหน้าพระเมรุ จ.อยุธยา

ด้านบนประดับด้วยดาวเพดาน เป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง

วัดหน้าพระเมรุ จ.อยุธยา

หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคและมีราหู ล้อมรอบด้วยหมู่เทพเทพชุมนุมจำนวน ๒๖ องค์ มีบังฐานและกระจังลงรักปิดทอง ติดกระจกสี เช่นเดียวกับด้านหน้าภายในพระอุโบสถ

วัดหน้าพระเมรุ จ.อยุธยา

พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดปางมารวิชัย ภายนอกฉาบด้วยปูนลงรักปิดทอง ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ตราธิราช จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโดยมีหน้าตักกว้างประมาณ ๔.๔ เมตรสูงประมาณ ๖ เมตร มีพระนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ”

พระวิหารหลังเดิม (วิหารขาว) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ชำรุดทั้งองค์เศียรหัก ฝาผนังชำรุดเหลือแต่ซาก ปัจจุบันได้สร้างสถานที่ต่อเติมออกมาทางตะวันออก เป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน

พระวิหารน้อย​(พระวิหารคันธารราฐ)​ มีชื่อเรียกกันอีกว่า “วิหารเขียน” เพราะมีลายเขียนในพระวิหาร
วิหารนี้ยาว ๑๖ เมตรกว้าง ๖ เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บานประตูแกะสลักด้วยไม้สัก ไม่มีการนำชิ้นส่วนอื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกัน “พระยาไชยวิชิต (เผือก)” ผู้รักษากรุงเก่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ ได้สร้างพระวิหารน้อยนี้ในปี พ.ศ ๒๓๘๑ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาเขียวพระนามว่า “พระคันธารราฐ” จากวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นวัดร้างมาประดิษฐานในวิหารแห่งนี้พระคันธารราฐองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทราวดีที่ ๑ ใน ๕ องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทยที่สำคัญคือเป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์เดียวในจำนวนที่มีอยู่ล้วนเป็นศิลาขาวทั้งสิ้น

สันนิษฐานว่าแต่เดิมพระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเมรุจังหวัดนครปฐมต่อมาเมื่อมีการเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานตามที่ตั้งต่างๆพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุในสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าคงจะเป็นสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเนื่องจากพระองค์โปรดเกล้าให้สำรวจท้องที่บริเวณจังหวัดนครปฐมแล้วตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านน้าเรียกว่าเมืองนครชัยศรีก่อนจะมาประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มีปรากฏตามจารึกบนหินขาวติดไว้ที่ฝาผนังใกล้ประตูเข้าพระวิหารน้อยตอนหนึ่งว่า พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ศิลาสมัยทราวดี หน้าตักกว้าง ๑.๗๐ เมตรสูง ๕.๒๐ เมตรพระยาไชยวิชิตได้ย้ายมาจากวัดมหาธาตุในเกาะเมืองอยุธยา

“มณฑปนาคปรก” ตั้งอยู่หน้าพระวิหารน้อยพระยาไชยวิชิต(เผือก)สร้างในปีที่สร้างพระวิหารน้อย

       วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กล่าวคือเมื่อปี พศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่าได้ยินกิตติศัพท์ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งอยุธยามีบุญญาธิการด้วยมีช้างเผือกคู่พระบารมีถึง ๗ เชือกจึงมีพระดำริที่จะแผ่พระบารมีมากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองทำทีส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมีเนื้อความทำนองขอช้างเผือก ๒ เชือก

เครดิตภาพ : http://www.ch3thailand.com

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ในที่ประชุมมีความคิดแตกเป็น ๒ ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตอบพระราชสาส์นไปในทำนองว่า ช้างเผือกย่อมเกิดสำหรับบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบำเพ็ญพระราชธรรมแล้วก็คงจะได้ ช้างเผือกมาสู่คู่พระบารมี เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทราบแน่ว่ากรุงศรีอยุธยาปฏิเสธจึงจัดขบวนเป็น ๕ ทัพรวมได้ ๕ แสนคนเข้าตีหัวเมืองทางเหนือตลอดจนถึงกรุงศรีถึงทุ่งลุมพลีทุ่งหันตราเข้าล้อมกรุงทั้ง ๓ พระเจ้าบุเรงนองมีพระราชสาส์นเข้ามาอีกครั้งว่า จะส่งรบหรือจะยอมไมตรี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิยอมเป็นไมตรีโดยใช้สถานที่เจรจาสงบศึกครั้งนั้นที่วัดพระเมรุราชิการาม เชื่อมต่อกับวัดหัสดาวาส จัดสร้างพลับพลาอัญเชิญ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นประธานทั้งสองพระองค์เสด็จมาพบกัน ณ พลับพลานั้น

อีกครั้งหนึ่งเมื่อคราวพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พศ. ๒๓๐๓ พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดหน้าพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส พระเจ้าอลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในวัดหน้าพระเมรุราชิการามแตกต้องพระองค์บาดเจ็บสาหัส พอรุ่งขึ้นพม่าเลิกทัพกลับไป (ยังไม่พ้นแดนเมืองตากพระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง)​

ในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ เมื่อปีพศ ๒๓๑๐ วัดนี้ไม่ได้ถูกพม่าทำลายเพราะเป็นฐานบัญชาการของพม่า วัดนี้จึงยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

แสดงความคิดเห็น