วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง
อยู่ใกล้ป้อมเพชร พระบรมมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1)
ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใกล้กับนิวาสสถานเดิมให้ชื่อว่า “วัดทอง”
เป็นวัดของฝ่ายวังหน้า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกวัดทองถูกทำลาย วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร กลายเป็นวัดร้าง
จนในปีพศ. 2328 รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดทองใหม่ทั้งพระอาราม
ในการนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พระราชอนุชา)
ได้ทรงร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ด้วย ได้ก่อสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์หมู่ กุฏิทั้งหมด
และโปรดให้ช่างเขียนภาพเทพชุมนุมนิบาตชาดก ๓ พระชาติ
และภาพมารวิชัยมีแม่พระธรณียืนบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง
ซึ่งเหมือนภาพเขียนที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ
รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระบรมมหาชนก (ทองดี)
และพระราชชนนี (ดาวเรือง) ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”
วัดนี้ได้รับความอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
จึงยังสมบูรณ์ดีอยู่นับว่าเป็นพระอารามแห่งราชวงศ์จักรี
วัดแห่งนี้มีสิ่งต่างๆที่น่าชื่นชมดังนี้
พระอุโบสถ
หน้าบันทำด้วยไม้สักแกะสลักลายกนกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง
คันทวยที่ประดับรับเชิงชายคาทุกตัวได้แกะสลักเป็นลายนกพันรอบทวย
มีเสารับชายคาด้านหน้ารูปทรงภายนอกจะตกท้องช้างคล้ายท้องเรือสำเภา
อันเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานพุทธลักษณะงดงามรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ
ให้จำลองขยายส่วนจากพระแก้วมรกตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง
ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบเหนือพระรัตนบัลลังก์ ที่ประดับกระจกสีด้านซ้ายขวา
เป็นที่ประดิษฐาน นพปฎลมหาเศวตฉัตร เพดานพระอุโบสถเป็นไม้จำหลักลายดวงดารา
บนพื้นสีแดงลงรักปิดทองประดับกระจก
พระวิหาร
มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่โครงสร้างเหมือนกับพระอุโบสถ
แต่ไม่มีคันทวยภายในพระวิหารบริษัทฐานพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง
มีเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช แต่เป็นจำหลักเขียนสีปิดทอง
จิตรกรรมฝาผนัง
มีทั้งในพระอุโบสถและพระวิหารโดยเฉพาะภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถที่มีอายุกว่า 200 ปี
เป็นภาพที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมช่างสมัยอยุธยามาเขียนผนังด้านข้างทั้งสอง
บริเวณด้านบนเป็นลายเทพชุมนุมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมาน
ส่วนด้านล่างของผนังเป็นทศชาติชาดก เช่น พระเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดก
ผนังด้านหลังตอนล่าง เป็นภาพท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พร้อมทั้งบริวารที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้า
ส่วนผนังด้านหน้าเป็นภาพมารและพระแม่ธรณีบีบมวยผมและด้านหลังเป็นภาพนรกสวรรค์
สำหรับภาพจิตรกรรมในพระวิหารที่เขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7
เนื่องจากของเดิมซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ลบเลือนไป
จิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารเป็นฝีมือของมหาเสวกตรี
พระยาอนุศาสน์จิตรกร (เป็นคุณตาของนายสมัคร สุนทรเวช) มีทั้งหมด 18 ห้อง
วาดตามข้อมูลที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกำกับให้ว่า
จะต้องเริ่มต้นและจบลงในตอนใดการปฏิสังขรณ์นี้มีขึ้นในระหว่างปี พ.ศ 2472 ถึง พ.ศ 2474
จุดเริ่มต้นตรงห้องที่ 1 ด้านซ้ายมือหลังพระประธานเป็นฉากแรก
เริ่มเรื่องด้วยพระสยามเทวาธิราชทูลเชิญพระอิศวรมาจุติเป็นพระนเรศวร
ช่องถัดมาเป็นตอนที่พระนเรศวรทรงกระบี่กระบอง ทรงเรือตามพระยาจีนจันตุ
ทรงตีเมืองคัง ทรงไก่ชนชนะพระมหาอุปราช ทรงประกาศอิสรภาพ ถือน้ำกระทำสัตย์ที่วัดศรีชุม
ทั้งหมดนี้เรียงตามลำดับด้วยไปจนถึงการรบพุ่งตีเมืองต่างๆ
จนถึงห้องสุดท้ายคือเหตุการณ์เคลื่อนขบวนพระศพกับพระนคร
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่รู้จักกันดีคือภาคยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร ฯ
เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่มีความเสมือนจริงมีสัดส่วนตามสรีระจริง
อันมีอิทธิพลมาจากตะวันตกและนำมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย
ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกประเทศไทย
อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับพระประธาน
เป็นที่น่าสังเกตว่าช้างทรงของทั้งสองพระองค์ เป็นลักษณะไม่มีเครื่องผูกช้างของจอมพล
เรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีลายพระหัตถ์ไปยังพระยาอนุสารจิตกร ความว่า
“เครื่องผูกช้างของจอมพลเข้าใจกันมาว่าผูกพระคชาธารทั้งช้างทรงเมื่ออำนวยศึก
และช้างทรงเมื่อทำยุทธหัตถีนักโบราณคดีตัดสินในชั้นหลังว่าช้างทรงเมื่อทำยุทธหัตถีนั้นถ้าถูกคชาธารเป็นอันตราย
ต้องเป็นช้างถูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่ 3 คน คนขี่คอถือของ้าว คนขี่กลางถือทวนเป็นผู้ช่วย
ควาญท้ายถือขอยาวเป็นคนขับช้าง เหมือนกันทั้งสองฝ่าย”
แสดงให้เห็นว่าคนสมัยก่อนทำงานละเอียดมากงานจิตรกรรมที่วัดนี้ได้กลายเป็นต้นแบบ
ของการเล่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวรในหลายรูปแบบเช่นแบบเรียน นิยาย ละครเป็นต้น