วัดนางคำ วัดร้างที่อยุธยา
ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองศรีอยุธยาด้านทิศตะวันออกในหมู่โบราณสถานเมืองอยุธยา
บริเวณฝั่งตะวันออกของคลองกุฎีดาว สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีความสำคัญมากวัดหนึ่ง
ในสมัยอยุธยาเพราะปรากฏหลักฐาน ในคำให้การของชาวกรุงเก่า ระบุว่าวัดนางคำมีฐานะเป็นพระอารามหลวง
เช่นเดียวกับวัดสมณโกฏฐาราม (วัดพระยาพระคลังตามเอกสารของแกมป์เฟอร์) วัดมเหยงคณ์ และวัดกุฎีดาว
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดมีแต่เพียงบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา
ที่กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินวันไปฉลองวัดนางคำของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ( พ.ศ. 2225 – 2301)
ว่าโปรดให้มีงานฉลองสมโภชถึง 3 วัน
ตอนที่อาจารย์ น ณ ปากน้ำ มาสำรวจวัดนี้เมื่อเดือนธันวาคมพ. ศ. 2509
สภาพยังเป็นป่ารกทึบล้อมรอบองค์เจดีย์ลังกาขนาดใหญ่ ซึ่งมีองค์ระฆังเพียวสูง
ดูเป็นเส้นตั้งชะลูดไม่ผายเป็นทรงจอมแห อาจารย์สันนิษฐานว่าอาจเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น แต่สภาพองค์เจดีย์ถูกนักล่าของเก่าขุดคุ้ยเสียพรุนไปหมดจนสามารถมองเห็นโครงภายในขององค์เจดีย์ซึ่งก่อเป็นพวงสูงไปตลอดองค์ ทางทิศตะวันออกของเจดีย์มีสร้างพระอุโบสถมีเศษอิฐกองเกลื่อนกลาดล่องลอยเหมือนถูกขุดเอาไปขาย
ไม่พบใบเสมาแม้แต่ใบเดียว นอกจากชิ้นพระเพลาของพระพุทธรูปศิลาทรายขาวจมดินอยู่ 2 3 ชิ้น
นักโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมภายในวัดได้แก่
แนวกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้านและมีคูน้ำล้อมรอบอีก 1 ชั้น
เจดีย์ประธานทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง
และมีพระอุโบสถตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานนั้น เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรม
ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ปัจจุบันวัดนางคำเป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม
และปรับแต่งภูมิทัศน์จนดูสวยงามองค์เจดีย์ทรงระฆังสูงบนฐานแปดเหลี่ยม
ยังคงรักษามนต์ขลังแห่งศิลปวิทยาไว้ได้อย่างไม่มีเสื่อมคลาย
ซึ่งต่างจากสภาพเมื่อตอนที่อาจารย์ น ณ ปากน้ำมาพบครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง
องค์เจดีย์ที่สูงตระหง่านจนมองเห็นได้จากถนนใหญ่ดูกลมกลืนอย่างพอดิบพอดี
กับธรรมชาติของคลองกุฎีดาวที่น้ำในลำคลองดูใส่สะอาดซึ่งแต่ก่อนคงเคยใช้หล่อเลี้ยงคูน้ำ
ที่มีลักษณะฐานระบุว่าสร้างขึ้นล้อมรอบวัดแห่งนี้ไว้แต่ได้พยายามสำรวจดูจนทั่วบริเวณแล้
วก็ยังไม่พบร่องรอยของคูน้ำที่ว่านี้สันนิษฐานว่าบ้านเรือนของผู้คนที่ตั้งอยู่ล้อมรอบวัดน่าจะเป็นแนวคูน้ำเดิม
เพราะรู้สึกว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าวัดจะเห็นได้ชัด
อีกสิ่งหนึ่งที่หาไม่พบก็คือชิ้นส่วนพระเพลาของพระพุทธรูปหินทรายขาว
ที่อาจารย์ น ณ ปากน้ำเคยบันทึกไว้ว่ามีอยู่ 2 ถึง 3 ชิ้นในลักษณะจมอยู่ในดิน
ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนี้ใครนำไปเก็บรักษาไว้ที่ไหน เพราะสำรวจดูจนทั่วแล้ว
ก็พบแต่พระพุทธรูปเพียงครึ่งองค์และชิ้นส่วนหินทรายที่ดูไม่ออกว่าคือส่วนไหนขององค์พระถูกนำมากอง
รวมกันไว้บนแท่นพระประธานของอุโบสถ
อ้างอิงข้อมูล : หนังสืออยุธยาที่ไม่คุ้นเคย
หน้า 194-197
ผู้เขียน : คุณปวัตร์ นวะมะรัตน
#แนะนำที่กินอยุธยา #อยุธยา #เที่ยวอยุธยา #ที่เที่ยวอยุธยา
#ไปเที่ยวอยุธยา #Ayutthaya #อยุธยาสเตชั่น