วัดนก ตั้งอยู่ถัดจากกำแพงวัดมหาธาตุลงมาทางทิศใต้ ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรทรงนำพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติ พระยาราม และครัวมอญจากเมืองแครงลงมากรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2212-2133) พระราชบิดา จึงโปรดให้ครัวมอญและญาติโยมของพระมหาเถรคันฉ่อง ไปตั้งบ้านเรือนอยู่หลัง วัดนก ส่วนพระมหาเถรคันฉ่องซึ่งเป็นผู้นำพยาเกียรติและพยารามมาเฝ้า เพื่อทูลข้อข้าราชการลับของฝ่ายพม่าให้สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบถึงแผนการลอบปลงพระชนม์พระองค์นั้น ก็โปรดให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุข้างวัดนกนั่นเอง
ออกจากวัดมหาธาตุให้เดินเลี้ยวขวาไปตามบาทวิถี พอพ้นแนวกำแพงวัดให้เลี้ยวขวาอีกทีเดินตรงไปเรื่อยๆก็จะเห็นซากโบราณสถานของ วัดนก ตั้งเด่นสง่าถัดจากกำแพงวัดมหาธาตุลงไปทางซ้ายหน่อยเดียว
ดูอาณาบริเวณจนทั่วแล้วคงจัดได้ว่า วัดนกเป็นวัดขนาดเล็กภายในวัดประกอบด้วยซากอาคารวิหาร แท่นพระประธาน มีซากพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีปรางค์ประธานขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านหลังวิหารหลังวัดนกออกไป ปัจจุบันเป็นบริเวณสวนสาธารณะบึงพระราม มองเห็นซากอาคารพระอุโบสถและเจดีย์ประธานทรงลังกาของวัดหลังคาดำอยู่ใกล้ๆ
ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงวัดโพรงเป็นบริเวณที่เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุว่ามีตลาดของชาวมอญ มีร้านขายของชำขายของสดเช้า-เย็น อีกทั้งยังเป็นตลาดขายเครื่องทองเหลืองขนาดใหญ่ในสมัยอยุธยา เช่น ขัน ถาด พาน เป็นต้น
ครัวมอญและญาติโยมของมหาเถรคันฉ่องก็คงได้รับโปรดเกล้าให้มาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ในย่านตลาดแห่งนี้