วัดธรรมิกราช ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าวาสุกรี มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา อยู่ติดกับพระราชวังโบราณด้านทิศตะวันออก
ในพงศาวดารเหนือระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยพระยาธรรมิกราช พระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง เดิมชื่อ วัดมุขราช ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดธรรมิกราช ตามชื่อผู้สร้างเมื่อสิ้นสุดกรุงศรีอยุธยา พศ.2310 วัดนี้ถูกทิ้งร้างไปชั่วระยะหนึ่ง ปัจจุบันเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายจำพรรษาอยู่
ภายในวัดปรากฏโบราณสถานสำคัญได้แก่ พระวิหารทรงธรรม ซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาจะเสด็จมาฟังพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะเป็นประจำ โดยเสด็จเข้าทางประตูศรีไชยศักดิ์ ภายในพระวิหารเคยประดิษฐานพระประธานสำริดที่มีขนาดใหญ่มาก ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนพระเศียรที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเจดีย์ประธานซึ่งมีฐานมีประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์ประดับโดยรอบ จากการขุดตรวจสอบพบว่าองค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันได้สร้างครอบทับเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็ก เปรียบเทียบได้กับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ส่วนฐานประทักษิณที่มีการประดับรูปสิ่งนั้นสร้างขึ้นเพิ่มเติมในระยะหลังลาวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งมีพระราชนิยมศิลปกรรมแบบเขมร
ส่วนพระอุโบสถนั้นตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารทรงธรรมสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทิศเหนือของเจดีย์ประธานเป็นวิหารภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูนสมัยอยุธยาหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือที่ฝ่าพระบาทมีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการปิดทองประดับกระจก