วัดพุทไธศวรรย์
ตั้งอยู่ในเขตตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศใต้ ปัจจุบันมีอาณาเขตเนื้อที่ ๔๖ ไร่ ๒ งาน ๔๖ ตารางวา
มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศใต้ ติดต่อกับที่ของวัดตำหนัก (ร้าง)
ทิศตะวันออก ติดต่อกับโรงเรียนพุทไธศวรรย์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านเรือนราษฎร
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาวัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, ๒๕๐๐, หน้า ๒๑๕) ซึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ๓ ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า ตำบลเวียงเหล็ก เรื่องราวของการสร้างวัดนี้ปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า
ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. ๑๘๙๖) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, ๒๕๐๗, หน้า ๓)
ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง
อนึ่ง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกพม่าทำลาย เหมือนวัดอื่นๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชม
จุดน่าสนใจ
ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที
ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก
ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลังภายในพระมณฑปมีพระประธาน
พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่
ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรม
แต่ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท
และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนัก
วิหารพระนอน
ตำหนักจตุคามรามเทพ
การเดินทาง
ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางสายอยุธยา-เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร
แล้วเลี้ยวซ้าย จะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงทางแยกซ้าย
เข้าวัดพุทไธศวรรย์
ทางเรือ ท่านอาจเช่าเหมาเรือหางยาวจากบริเวณหลังลานจอดรถฝั่งตรงข้าม
พระราชวังจันทรเกษมด้านตะวันออกของเกาะเมือง ล่องไปตามลำน้ำป่าสัก
ลงไปทางใต้ผ่านวิทยาลัยการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา วัดพนัญเชิงวรวิหาร
วัดพุทไธศวรรย์ โบสถ์โปรตุเกส วัดไชยวัฒนาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
และเจดีย์พระศรีสุริโยทัย
อีกหนึ่งเส้นทางหากท่านเยี่ยมชมโบราณสถานภายในเกาะเมือง แล้วท่านสามารถใช้เส้นทาง
ถนนรอบเกาะเมืองได้ โดยเดินทางมายังหน้าโรงพยาบาล พระนครศรีอยุธยา
แล้วข้ามเรือเล็กซึ่งมีท่าเรืออยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับโรงพยาบาล แล้วเดินเท้าต่ออีกเล็กน้อย