วัดสบสวรรค์
..
วัดสบสวรรค์ ตั้งอยู่ในเกาะเมือง อยุธยา ทางทิศตะวันตกและอยู่ทางทิศเหนือของวังหลัง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ 2091-2111)
โปรดให้นำพระบรมศพของพระสุริโยทัยและพระราชธิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ชีพในศึกตะเวนชเวตี้
มาไว้ที่สวนหลวงภายในกำแพงพระนคร หลังจากพม่าถอยทัพกลับไปแล้ว
จึงโปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพทั้งสองพระองค์ณที่นั่น
พร้อมกับสถาปนาบริเวณที่ถวายพระเพลิงเป็นพระอาราม มีเจดีย์ วิหาร
พระราชทานนามว่าวัดสบสวรรค์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับการเสด็จขึ้น
สู่สรวงสวรรค์ของพระมเหสีและพระราชธิดา
ต่อมาศึกหงสาวดีบุเรงนองได้ยกมาติดพระนครอีกครั้ง
ครั้งนี้มีพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก เสด็จมาพร้อมด้วย
โดยมีทัพหลวงตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลลุมพลี พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้นำปืนใหญ่ขึ้นตั้งยิงจากบริเวณ วัดสบสวรรค์ อยุธยา
ถูกลงกลางทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดี จนต้องถอยร่นขึ้นไปจัดทัพใหม่
ที่ตำบลมหาพราหมณ์ (เกาะมหาพราหมณ์)
ขณะที่การรบกำลังติดพัน ภายในพระนครก็เกิดการผลัดแผ่นดินใหม่
สมเด็จพระมหินทราธิราช (พ.ศ 2111-2112) ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ
ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่กองทัพของพระเจ้าหงสาวดี
ก็ยังไม่สามารถหักเอาชนะพระนครได้ พระมหาธรรมราชาจึงออกอุบายถวายแก่พระเจ้าหงสาวดี
ให้ส่งพญาจักรีเข้าไปเป็นไส้ศึกในพระนคร ซึ่งจุดที่พระยาจักรีถูกส่งเข้าไปทั้งพันธนาการนั้น
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า คือตรงบริเวณวัดสบสวรรค์แห่งนี้
เมื่อคราวศึกอลองพญายกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา
ใน ปี พ.ศ 2302 หรืออีก 190 ปีต่อมา สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (พ. ศ. 2301)
ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ที่วัดประดู่ ได้ลาผนวชออกมาบัญชาการศึก
ตรวจตากำชับหน้าที่ตามจุดต่างๆด้วยพระองค์เองรวมถึงที่ตั้งฐานปืนใหญ่บริเวณวัดสบสวรรค์ด้วย
ถ้าพิจารณาตามแผนที่พระนครศรีอยุธยา ของพระยาโบราณราชธานินทร์
ซึ่งทำไว้เมื่อปีพ.ศ 2469 หรือหลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยามาแล้ว 159 ปี
จะเห็นว่าวัดสบสวรรค์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวังหลังต่อมาภายหลังได้มีการสร้าง
หน่วยทหารสรรพวุฒิขึ้นในบริเวณนั้น ซากปรักหักพังต่างๆของวัดจึงถูกรื้อทำลาย
เหลือแต่พระเจดีย์องค์ใหญ่เพียงองค์เดียว จากการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบร่างก่อด้วยอิฐ
ของอาคารซึ่งอาจเป็นโบสถ์หรือวิหารอยู่ทางทิศเหนือของพระเจดีย์แนวทางเดิน
ปูด้วยอิฐและมีกำแพงแก้วล้อมรอบองค์พระเจดีย์ อันแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการเป็นส่วนหนึ่ง
ของวัดสบสวรรค์ในอดีต
ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้เรียกพระเจดีย์ของวัด
ที่เหลืออยู่องค์เดียวว่า “พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย” เพื่อแทนอนุสรณ์สถานของ วัดสบสวรรค์
ทั้งหมดที่ถูกหรือทำลายไป
เครดิตภาพ : คุณ Sittichok Chanisa
อ้างอิงข้อมูล : หนังสืออยุธยาที่ไม่คุ้นเคย