ประวัติ
วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศตะวันตก
เป็นวัดที่สมเด็จพระเพทราชากษัตริย์อยุธยาองค์ที่ 28 แห่งราชวงค์บ้านพลูหลวง
โปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถาน(บ้าน)เดิม
วัดนี้เคยเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา และพระอุโบสถ วิหารการเปรียญ
มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแปลกประหลาดกว่าวัดอื่น จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า
“วัดกระเบื้องเคลือบ”
การมุงหลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียวนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้โปรดให้มุงหลังคา พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทในวังนารายณ์ราชนิเวศน์
และวิหารกลางในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เมื่อพระเพทราชารับราชการ
เป็นเจ้ากรมช้าง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยู่ที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์
คงเห็นหลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลืองสวยงามดี จึงได้ให้มุงหลังคากระเบื้องเคลือบ
ที่วัดบรมพุทธารามนี้บ้าง
ปี พ.ศ. 2499กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม
ได้พบกระเบื้องเคลือบสีเหลืองรูปครุฑ รูปเทพพนม เคลือบสีเหลืองแกมเขียว
เดิมคงติดประดับอยู่ที่พระเจดีย์ซุ้มประตูหน้าโบสถ์ ศิลปโบราณวัตถุสถาน
ประกอบด้วยพระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีประตูด้านหน้า 3 ประตู
ด้านหลัง 2 ประตู มีมุขหน้าหลังและมีซุ้มประตูปูนปั้นเป็นรูปพระจุฬามณี พระประธานเป็น
พระพุทธรูปปูนปั้นก่ออิฐถือปูน
ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีหลักฐานว่าโปรดให้ซ่อมวัดนี้ครั้งหนึ่ง
และโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบานมุกนี้
ประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง
และที่วัดเบญจมบพิตรคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำเป็นตู้ใส่หนังสือ ซึ่งตู้ใบนี้
สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้มาละประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เป็นงานฝีมือประดับมุกยอดเยี่ยมทั้ง 3 คู่
รอบนอกพระอุโบสถ มีซากฐานตั้งใบเสมา รวม 8 ใบ มีกำแพงรอบพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน
มีประตูกำแพงด้านละ 2 ประตูภายนอกกำแพงด้านหน้าอุโบสถ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
เรียงอยู่ 2 องค์ มีซากวิหารรูปสี่เหสี่ยงผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ มีประตูใหญ่
ด้านละ 1 ประตู ประตูข้างด้านใต้ 2 ประตู
จิตรกรรม พบที่ บานแผละหน้าต่าง เป็นพื้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บานแผละประตูหลัง
ด้านขวาพระประธานมีภาพลางๆคล้ายบุคคลนั่งในปราสาท บานแผละ*ประตูหลังด้านซ้าย
พระประธาน มีกรอบเส้นสินเทาและเส้นหลังคาปราสาท สีที่ใช้เท่าที่ปรากฏมีสีเขียว,สีดำ
ลงเป็นพื้นพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายกระหนกที่ล้อมรอบพุ่มข้าวบิณฑ์
พุ่มข้าวบิณฑ์์แต่ละบานแผละ* มีลักษณะต่างกันบางแห่งเป็นลายพันธุ์พฤกษา
บางแห่งเป็นลายกระหนก เขียนสีลงบนผนังปูนฉาบที่เรียบสีขาว เนื่องจากในปัจจุบันยัง
ไม่มีหน่วยงานของกรมศิลปากรเข้าไปทำการอนุรักษ์ ภาพจิตรกรรมจึงถูกลบเลือนไป
จนแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว
* หมายเหตุ บานแผละคือผนังตอนที่บานประตูหน้าต่างเมื่อเปิดเข้าไปแล้วแปะอยู่
การเดินทาง
หากเดินทางมาจากรุงเทพโดยใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32)เลี้ยวซ้าย
ตรงสี่แยกเข้าอยุธยา ตรงเข้ามาผ่านสะพานนเศวร ไปตาม ถ.โรจนะจนสุดถนนแล้ว
เลี้ยวซ้าย วัดบรมพุทธารามจะอยู่ทางซ้ายมือ
เครดิตภาพ : จากเฟซบุ๊กคุณ Sittichok Chanisa
เครดิตข้อมูล : https://watboran.wordpress.com/category/%E0%B9%91%E0%B9%95%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1/